กฟผ.พร้อมลงทุน FSRU รองรับLNG 5ล้านตันต่อปี แห่งแรกของไทย

sdr
- Advertisment-

กฟผ.พร้อมเดินหน้าลงทุนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ(Floating Storage and Regasification Unit หรือ FSRU) FSRU ขนาด 5 ล้านตันต่อปี เป็นแห่งแรกของไทย ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) คาดเริ่มก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2563

ดร.นิบง อังกุราภินันท์ หัวหน้าหน่วยวิศวกรรมโยธาและวิศวกรรมชายฝั่ง โครงการ FSRU การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยในการบรรยายเรื่อง ” Thailand First FSRU ” ในงานEGAT Energy Forum 2019 เมื่อวันที่ 12พ.ย.2562 ถึงความคืบหน้าโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ(Floating Storage and Regasification Unit หรือ FSRU) ว่า กฟผ.ได้รับมอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อปี 2559 ให้ดำเนินโครงการ FSRU ขนาด 5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 24,500 ล้านบาท ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จัดส่งให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้

โดยโครงการ FSRU ของ กฟผ. ล่าสุดนั้นได้จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment หรือ EIA) เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งจัดงานด้านมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ ชี้แจงรายละเอียดแก่หน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและการกำหนดจัดรับฟังความคิดเห็น ทั้ง 2 ครั้งแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คาดว่าจะได้รับความชัดเจนภายในไตรมาส 1 ปี 2563

- Advertisment -

จากนั้นจะต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)และ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่ออนุมัติอีกครั้ง โดยในระหว่างนี้ กฟผ. ได้จัดเตรียมเอกสาร(Terms of Reference : TOR) พร้อมแล้ว คาดว่าหากได้รับการอนุมัติ จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2563 โดยกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ ในปี 2567

สำหรับรายละเอียดโครงการ FSRU ของ กฟผ. ขนาด 5 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น 3 โครงการคือ 1. โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ FSRU มีลักษณะเหมือนเรือ ทำหน้าที่กักเก็บและเปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซ เพื่อส่งไปยังโรงไฟฟ้าด้วยท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยสถานี FSRU สามารถรับ LNG ได้สูงสุดถึง 260,000 ลูกบาศก์เมตร 2. โครงการท่าเทียบเรือ FSRU : เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ยึดสถานี FSRU ให้ลอยในตำแหน่งเดิมเพื่อรองรับเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Carrier – LNGC) 3. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก FSRU ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เป็นระยะทาง 60 กิโลเมตร

ในส่วนองค์ประกอบหลักของโครงการสถานี FSRU ประกอบด้วย ถังเก็บรักษา LNG (กักเก็บ 210,000 ลูกบาศก์เมตร ที่ -160 องศาเซลเซียส) ,ระบบผูกโยงเรือ ,อุปกรณ์รับ-จ่าย LNG ,ระบบแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวให้กลายเป็นก๊าซ และอุปกรณ์จ่ายก๊าซธรรมชาติเข้าสู่ระบบท่อก๊าซธรรมชาติจากสถานี FSRU ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้
ขณะที่โครงการท่าเทียบเรือ FSRU เป็นท่าเทียบเรือกลางทะเลแบบจอดสองฝั่ง ด้านหนึ่งสำหรับจอดเรือซึ่งเป็นสถานี FSRU แบบถาวร อีกด้านสำหรับจอดเรือขนส่งก๊าซเหลวได้ 1 ลำ โดยองค์ประกอบหลักของท่าเทียบเรือ FSRU ประกอบด้วย 1.หลักผูกเรือรับแรงกระแทก 2.หลักผูกยึดเรือ 3.แท่นขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว 4.แท่นสาธารณูปโภค และ5.แท่นปล่องระบายก๊าซ

นอกจากนี้ ยังมีท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก FSRU ไปยังโรงไฟฟ้า ซึ่งท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล มีจุดเริ่มต้นที่สถานี FSRU บริเวณอ่าวไทยตอนบน จุดสิ้นสุดที่บริเวณคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ โดยพื้นที่วางท่อจะอยู่ในทะเล มีระยะทางวางท่อประมาณ 20 กิโลเมตร
ส่วนท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก มีจุดเริ่มต้นคือจุดเชื่อมต่อกับท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล และจุดสิ้นสุดจะอยู่ที่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริเวณโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยพื้นที่วางท่อที่อยู่บนบก มีระยะทางวางท่อประมาณ 38 กิโลเมตร

ขณะที่สถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ จำนวน 8 สถานี แบ่งเป็นสถานีรับส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล 1 สถานี ,สถานีต้นทางท่อบนบก 1 สถานี(สถานีชายฝั่งทะเล) ,สถานีควบคุมก๊าซ 5 สถานี และสถานีควบคุมและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติ 1 สถานี

สำหรับสาเหตุที่ กฟผ. ต้องดำเนินโครงการ FSRU เนื่องจากเพื่อเพิ่มการกระจายตัวของสถานีรับ LNG จากที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และเพิ่มความมั่นคง เสถียรภาพในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ ,เพิ่มความหลากหลายของผู้ให้บริการสถานีรับ LNG และทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาการให้บริการมากขึ้น สนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ให้มีผู้ให้บริการสถานีฯ และผู้นำเข้า LNG รายใหม่ๆ (Third Party Access : TPA) รวมทั้งโครงการ FSRU จะช่วยเพิ่มความมั่นคงในการจัดหา LNG มาจากหลายๆแหล่งได้เพิ่มขึ้น

Advertisment

- Advertisment -.