ภาครัฐเร่งทำแผน PDP ฉบับใหม่ เฉลี่ยค่าไฟฟ้าตลอดแผนประมาณ 4 บาทต่อหน่วย

- Advertisment-

วิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ (วพม.) รุ่น 2  เปิดเสวนาระดมความเห็นผู้เชี่ยวชาญพลังงานแนะแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ด้านภาครัฐชี้ค่าไฟฟ้าตลอดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ เฉลี่ยประมาณ 4 บาทต่อหน่วย คาดเสนอ กพช.และ ครม. พิจารณา ไตรมาส 3 ปี 2567 นี้ ขณะที่เอกชนเสนอเร่งเปิดเสรีไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า หนุนสู่เป้าหมายลดโลกร้อน

วันที่  25 เม.ย. 2567 หลักสูตรวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ (วพม.) รุ่น 2  ได้จัดเสวนา “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร“ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานร่วมเสวนา ได้แก่  นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.),  นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย, นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.), นายวฤต รัตน์ชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ ซึ่งจะประกอบด้วย 5 แผนสำคัญ ได้แก่ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยคาดว่า ทั้ง 5 แผน จะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567 นี้ เพื่อนำไปประกอบเข้าสู่แผนพลังงานชาติ และเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 นี้ ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานห่งชาติ(กพช.) พิจารณา และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติต่อไป

- Advertisment -

สำหรับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ แผน PDP ฉบับใหม่ ยังมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ.2065 โดยที่สำคัญจะพยายามรักษาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน 20 ปี ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ อัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน หรือประมาณกว่า 4 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ สัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในแผน PDP ฉบับใหม่ จะพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนสูงกว่า 50% ก๊าซฯ ประมาณ 30-40% ไฮโดรเจน 5-20% เป็นต้น ซึ่งในส่วนของไฮโดรเจน คาดว่าจะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2578 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ราคาค่าไฟฟ้าในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันตามนโยบายการบริหารค่าไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางภาครัฐและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พยายามบริหารค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและไม่ให้ปรับสูงเกินไปจนกระทบต่อประชาชน โดยค่าไฟฟ้าปัจจุบันยังคงตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่ประชาชนอาจจะรู้สึกว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าช่วงฤดูร้อนนี้ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของประเทศไทยอาจจะพุ่งทะลุ 36,000 เมกะวัตต์ได้ จากเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 พีคไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้าขึ้นไปถึง 35,830 เมกะวัตต์    

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าก็มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบระบบขึ้นมาบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าให้เห็นภาพที่ชัดเจน ซึ่งก็คาดหวังว่า แผนPDP ฉบับใหม่ จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ปตท.มองว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมนั้น ควรจะต้องดำเนินการดังนี้ 1.การใช้ไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริงและไม่ทำให้ระบบเกิดการบิดเบือน 2.ให้ความรู้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเรื่องการประหยัดไฟฟ้า 3. นำเทคโนโลยีประหยัดไฟฟ้าเข้ามาใช้ และ 4.เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ รวมถึงต้องพิจารณาว่าในอนาคตโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยจะยังเป็นรูปแบบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งาน (TOU) หรือไม่ และหากยกเลิกจะต้องมีระยะเวลาเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้เตรียมปรับตัวด้วย

นายวฤต รัตน์ชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าควรต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้มีทางเลือกในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เช่น การผลิตไฟฟ้าใช้เองบางส่วน ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้ แต่กลุ่มประชาชนที่ไม่มีทางเลือก อาจต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงกว่า ดังนั้นภาครัฐจะต้องบริหารจัดการโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรมกับกลุ่มที่ไม่มีทางเลือกดังกล่าวด้วย   

นอกจากนี้ระบบอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU เป็นระบบที่ใช้มายาวนาน ซึ่งเป็นระบบที่คิดค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้งาน ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนหันไปใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืน เพื่อเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าให้ได้ตลอดวัน และปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนก็ปรับเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืนมากขึ้น รวมถึงการชาร์จแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็ชาร์จไฟฟ้าช่วงกลางคืน ดังนั้นภาครัฐจึงควรบริหารจัดการระบบไฟฟ้าประเทศให้เหมาะสมกับปัจจุบันมากขึ้น

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ดังนี้ ควรเริ่มประกาศใช้ TPA-Third Part Access และกำหนดอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสม และเตรียมการสำหรับ Direct PPA โดยไม่ชักช้า ,ภาครัฐควรตั้งงบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น ในส่วนไฟสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา และอื่นๆ เป็นต้น ตลอดจนปรับการอุดหนุนค่าไฟฟรีให้กลุ่มคนจนแท้จริง

ขณะที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนด้านเศรษฐกิจฐานราก สิ่งแวดล้อม และการลดก๊าซเรือนกระจกของพลังงานสะอาดแต่ละประเภท รวมถึงในอนาคตต้องสามารถใช้กองทุน Climate Change ใน พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของการพัฒนาพลังงานสะอาดได้

นอกจากนี้ควรเปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าจาก ESB – Enhanced Single Buyer ไปสู่การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้า RE100 ของ FDI,การส่งออก และบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality แบบเป็นขั้นตอนภายในกรอบเป้าหมายเวลาที่เหมาะสม โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้า RE100 สูงมาก เช่น EEC และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

“ผมมองว่า มาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 50 หน่วย ไม่เป็นธรรม เพราะถ้าเป็นบุคคลที่มีบ้านหลายหลัง แต่ไม่ค่อยอยู่บ้านก็ใช้ไฟน้อยไม่ถึง 50 หน่วยอยู่แล้ว และบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีฐานะไม่ใช่คนจนแต่กลับได้รับสิทธิ์ตรงนี้ ขณะเดียวกันคนจนหลายคนที่อยู่รวมกันในบ้านหลังเดียว ถ้าเกิดใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย กลับไม่ได้รับสิทธิ์ตรงนี้”

Advertisment

- Advertisment -.