BGRIM โชว์กำไรสุทธิไตรมาส 3/62 โต 69% หลังรับรู้ผลดำเนินการโรงไฟฟ้าในเวียดนาม

- Advertisment-

BGRIM โชว์กำไรสุทธิจากการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2562 เติบโต 69% จากปีก่อน หลังสามารถรับรู้ผลดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนามเต็มไตรมาส พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือกับ Petro Vietnam Power Corporation-JSC ร่วมศึกษาการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเวียดนาม ขนาด 3,000 เมกะวัตต์  

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนชั้นนำของไทย เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 856 เมกะวัตต์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 11 โครงการ คือ โรงไฟฟ้า SPP 1 โครงการ (APBR5), โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย 7 โครงการ, โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam Che 1 ในสปป.ลาว และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม 2 โครงการ รวมทั้งการเข้าซื้อโครงการ SPP1 ในเดือนมีนาคม 62

ขณะที่ กำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69% จากปีก่อน และ 24.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นระดับที่สูงที่สุด เนื่องจากการรับรู้ผลการดำเนินงานจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นไตรมาสแรกที่รับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม (DT1&2 และ Phu Yen TTP) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam Che 1 ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนมิถุนายน 62 ที่ผ่านมา ประกอบกับปริมาณการใช้เชื้อเพลิงของโครงการโรงไฟฟ้า ABP3 ที่ลดลง หลังการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซฯ เสร็จสิ้นในช่วงต้นปี

- Advertisment -

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของประเทศเวียดนาม (PetroVietnam Power Corporation-JSC) เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิตรวม 3,000 เมกะวัตต์ รวมถึงการนำเข้าและจำหน่าย LNG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม Interchem กำลังการผลิตติดตั้ง 4.8 เมกะวัตต์ ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 87% อยู่ระหว่างวางระบบระบายน้ำของโครงการ และก่อสร้างอาคารซ่อมบำรุงและอาคารคาร์บอนแบล็ค มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เดือนธันวาคมนี้ ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ได้ทยอยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและการก่อสร้างทั้งในประเทศไทย โอมาน และฟิลิปปินส์ รวมแล้วกว่า 60 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการใหม่ ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 5 โครงการของบริษัทได้รับใบอนุญาตทั้งหมด พร้อมทั้งหนังสือตอบรับการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ที่มีอายุสัญญา 25 ปี โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2565 ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้า ABP1 ซึ่งหมดอายุสัญญากับ กฟผ. เมื่อวันที่ 17 กันยายน ได้เริ่มเข้าสู่ช่วงการต่ออายุรับซื้อไฟฟ้าออกไปอีก 3 ปี ก่อนที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมจะแล้วเสร็จ

“ปัจจุบัน สัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากเดิม 8% ในขณะที่สัดส่วนกำลังการผลิตจากโครงการในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากเดิม 2% ตอกย้ำการเป็นบริษัทชั้นนำในระดับภูมิภาค” นางปรียนาถ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน “Thailand Sustainability Investment (THSI)” ประจำปี 2562 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอกย้ำเป้าหมายการเป็นบริษัทเอกชนชั้นนำระดับสากลที่มีความโดดเด่น และดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และธรรมมาภิบาล

Advertisment

- Advertisment -.