ทิศทางการปรับตัวของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ อุดหนุนต่อ หรือ พอแค่ปี 67

- Advertisment-

เวที “สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพและทิศทางการปรับตัว” ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ. นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นทางออกการปรับตัวของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน  โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) คือการนำปาล์มน้ำมันไปสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอาหารให้มากขึ้น โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุถึงการผลิตเป็นน้ำมันปาล์มแดง (Red Palm Oil) ซึ่งเป็นน้ำมันที่ได้มาจากการหีบเฉพาะเนื้อปาล์ม (Palm Fruit) จัดเป็นน้ำมันเกรดเอ ที่มีสารแคโรทีนอยด์ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่จะทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มยังคงมีรายได้ที่ดี หากมีการส่งเสริมให้มีตลาดที่รองรับมากขึ้น

​• การอุดหนุนราคาที่ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด 

โดยการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งหมายถึงทั้งน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) และน้ำมันแก๊สโซฮอลที่เป็นเบนซินผสมด้วยเอทานอลนั้น เดินทางมาถึงทางเลือกในการตัดสินใจเชิงนโยบายแล้ว เพราะจะมีระยะเวลาเหลืออีกไม่นาน ภายใต้ พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

- Advertisment -

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกล่าวในงานสัมมนาให้เห็นภาพว่า พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เขียนเอาไว้ให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพได้จนถึงปี 2565 และถ้ารัฐมีเหตุผลความจำเป็น สามารถขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี  ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมา เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบรัฐจึงได้มีการขยายระยะเวลาการชดเชยราคาครั้งแรกไปแล้ว ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2567 และหากมีการขยายเวลาอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้ายก็จะไปสิ้นสุดในปี 2569 ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ทาง สกนช. ต้องลงพื้นที่จริงทั้งที่นครศรีธรรมราชและตรังเพื่อเก็บข้อมูล สรุป และนำเสนอให้ฝ่ายนโยบายได้ใช้ตัดสินใจ 

ในขณะที่ นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สกนช. ชี้ให้เห็นถึงฐานะกองทุนน้ำมันฯ จากการที่เข้าไปช่วยรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กองทุนน้ำมันฯ ต้องแบกภาระจนติดลบถึง 1.3 แสนล้านบาท แต่ช่วงที่ราคาน้ำมันเป็นขาลง ก็มีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จนการติดลบลดลงเหลือ 4.5 หมื่นล้านบาท และลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ต่อมาเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น แต่กองทุนน้ำมันฯ ยังคงพยุงราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้การลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเข้ามาช่วยด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบเพิ่มขึ้นเกือบแสนล้านบาท

• เหตุผลที่รัฐมีนโยบายสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ  

นายวีระพล จิระประดิษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เล่าถึงความเป็นมาโดยสรุปว่า ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2545 หรือ 20 กว่าปีก่อน ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศมากถึง 90% ของความต้องการใช้ จึงมีแนวคิดที่จะผลิตน้ำมันที่ใช้พืชพลังงานมาเป็นส่วนผสม เพราะไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม มีการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ที่ผลิตเป็นเอทานอลได้ ส่วนที่จะผสมในดีเซลก็มีปาล์มน้ำมัน โดยข้อดีของการนำมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงก็คือเป็นการช่วยดูดซับผลผลิตให้เกษตรกร ทำให้ราคาผลผลิตไม่ตกต่ำในช่วงฤดูผลิต ซึ่งก็ดำเนินการมาตลอด มีอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่สร้างมูลค่าของพืชผลการเกษตรให้สูงขึ้น ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน และสร้างมูลค่าเพิ่ม และดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละปีช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท เกษตรกรมีรายได้ 3-4 หมื่นล้านบาท รวมแล้วทั้งวงจรมีมูลค่าเพิ่มเป็นแสนล้านบาท

ถึงแม้ว่าน้ำมันจากฟอสซิลจะมีต้นทุนถูกกว่าไบโอดีเซล และเอทานอลที่นำมาผสม ซึ่งยิ่งผสมในสัดส่วนที่สูง ต้นทุนราคาน้ำมันก็ยิ่งแพง และค่าความร้อนประสิทธิภาพก็ยิ่งน้อยลง จึงต้องใช้กองทุนน้ำมันฯ มาช่วยอุดหนุนเพื่อจูงใจให้คนมาใช้ แต่เมื่อมองในภาพรวมก็อาจสรุปได้ว่า การส่งเสริมพืชพลังงานนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้มากกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันจากฟอสซิล

• น้ำมันปาล์มแดง หนึ่งในทางออกที่รอการส่งเสริม หากรัฐต้องหยุดชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ

รศ.ดร. หมุดตอเล็บ หนิสอ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ช่วยหาทางออกให้กับปาล์มน้ำมันในภาคใต้ ที่มีผลผลิตจำนวนมากประมาณ 90% ของผลผลิตทั้งประเทศ (ข้อมูลปี 66 ทั้งประเทศผลิตประมาณ 18 ล้านตัน เป็นผลผลิตจากภาคใต้ถึง 16 ล้านตัน ) โดยช่วยสร้างทางเลือกในการทำเป็น (Red Palm Oil) หรือ RPO ซึ่งแตกต่างจากโรงงานส่วนใหญ่ที่ทำเป็น Crude  Palm Oil หรือ CPO 

โดย รศ.ดร. หมุดตอเล็บ เล่าว่าสิทธิบัตรที่พัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มแดง 90% นั้นไม่ได้เกิดในประเทศที่มีปาล์มน้ำมัน แต่เกิดในเนเธอร์แลนด์ อิสราเอล อเมริกา ยุโรป ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ส่วนใหญ่ผ่านมาทางมาเลเซียและมาติดตั้งในไทย โดยพบว่าสีแดงในน้ำมันปาล์มมาจากลูกปาล์ม ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีเช่นเดียวกับที่อยู่ในแครอท มะเขือเทศ โดยเป็นสารพฤกษเคมีที่มีแคโรทีน 13 ชนิด มีวิตามินเอ วิตามินอี ซึ่งการนำไปกลั่นเพื่อเอาสีและกลิ่นออกเหลือแค่น้ำมันเป็นการทำลายคุณค่าทางโภชนาการ

มาเลเซียมีการวิจัยและพัฒนาน้ำมันปาล์มสีแดงได้เมื่อ 10 ปีที่แล้วโดยปรับปรุงกระบวนการผลิตลดขั้นตอนบางส่วนเพื่อให้เหลือสีแดงมากขึ้น โดยอินโดนีเซียพยายามส่งเสริมเป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมให้เกิดโรงผลิตปาล์มน้ำมันชุมชนสีแดง สำหรับทำอาหารเพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง 

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ MPOC ที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยของมาเลเซีย ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1970 พบว่า น้ำมันปาล์มแดงมีวิตามินเอมากกว่าแครอท 15 เท่า หรือมีแคโรทีนอยด์มากกว่ามะเขือเทศ 300 กว่าเท่า ซึ่งมีการผลิตบรรจุขวดและแคปซูลส่งออกไปประเทศจีน คนไทยมีความรู้และมีงานวิจัยเรื่องน้ำมันปาล์มแดงน้อยมาก ในขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียกลับส่งเสริมอย่างจริงจัง คาดหวังให้ทุกอำเภอมีโรงงานผลิต 1 โรง รองรับการใช้ปาล์มได้ 20-30%

รศ.ดร. หมุดตอเล็บ มีความหวังว่า ถ้าชุมชนผลิตน้ำมันปาล์มแดงได้เอง มีโรงงานต้นแบบกระจายไปทุกอำเภอ 1 โรง รองรับปาล์มน้ำมันได้ 2-3 พันไร่ จะสร้างรายได้และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน เป็นทางเลือกที่สร้างความยั่งยืนแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำระยะยาวได้ และถ้าผลักดันต่อเนื่อง ห้าปีสิบปี พัฒนาไปสู่ไบโอออยล์ ที่อียูกำลังผลักดันอยู่ โดยที่พัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตเอง ตั้งราคาเองได้ จะทำให้นักวิจัยทำงานอย่างมีเป้าหมาย ผลักดันอย่างเป็นระบบจนเป็นการพัฒนาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน

ทางด้านนางจันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง ซึ่งมีความกระตือรือร้นในการผลิตน้ำมันปาล์มแดงอย่างมาก เล่าว่าได้อ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และติดต่อเข้ามาจนได้เครื่องมือไปผลิตน้ำมันปาล์มแดง กระบวนการผลิตทำตั้งแต่ปี 2564 และเริ่มทำจนได้มาตรฐาน อย. ตั้งเป้าทำน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ กลุ่มเป้าหมายอินทรีย์ แต่เมื่อติดต่อขอรับรองมาตรฐานกับทาง อย.กลับถูกระบุว่าเป็นอาหารชนิดใหม่เพราะยังไม่เป็นที่รู้จัก ความกังวลตอนนี้คือ จะทำตลาดอย่างไรเพราะคนยังไม่รู้ว่าน้ำมันปาล์มแดงกินได้

สกนช. เป็นหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทเหมือนโซ่ข้อกลางระหว่างต้นน้ำที่เป็นฝ่ายนโยบาย คือรัฐบาลและปลายน้ำคือผู้ผลิต เกษตรกร หรือโรงงานอุตสาหกรรม โดยการเก็บข้อมูลที่ครบถ้วนทุกมิติจะมีส่วนสำคัญให้รัฐบาลได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายได้อย่างถูกต้อง ในระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่อีก 2 ปีตามกฎหมายว่าจะยังใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพกันต่อไปเรื่อยๆ ด้วยการแก้ไขกฎหมาย  ซึ่งมีข้อดีในการช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง สร้างมูลค่าให้พืชเกษตรหรือจะหันไปส่งเสริมทางเลือกอื่นเพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าอย่างการผลิตเป็นน้ำมันปาล์มแดงเช่นเดียวกับที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย  ซึ่งเป็นประเทศผู้ปลูกปาล์มรายใหญ่ ทำเป็นโมเดลตัวอย่าง

Advertisment

- Advertisment -.