กกพ. ปลดล็อกเปิดเสรีก๊าซฯ บนกติกาที่เป็นธรรม

- Advertisment-

หลังจากภาครัฐมีนโยบายปลดล็อกการผูกขาดธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยเปิดโอกาสให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำร่องทดลองเป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ Shipper เพื่อมาป้อนโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เอง ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณให้เอกชนรายอื่นเตรียมพร้อมก่อนที่ภาครัฐจะเปิดเสรีก๊าซฯเต็มรูปแบบในอนาคต เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างเป็นธรรม

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อาศัยจังหวะราคา LNG ในตลาดโลกต่ำ เปิดโอกาสให้เอกชนรายใหม่เตรียมความพร้อมในการนำเข้า LNG ในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและเสริมสร้างเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยได้อนุมัติใบอนุญาตเป็น Shipper เพิ่มเติมให้อีก 3 บริษัท คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)  บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด และรายล่าสุด บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี  เมื่อรวมกับ 2 รายเดิม ที่ได้รับอนุญาตไปก่อนแล้ว คือ ปตท. กับ กฟผ. ทำให้รวมแล้วมีผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 5 ราย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC ว่า กกพ. มีหน้าที่ออกใบอนุญาตให้เอกชนที่มีความพร้อมเสนอขอเป็น Shipper ได้ตามกฎกติกาของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งการออกใบอนุญาตครั้งนี้เปรียบเสมือนการมาขอใบขับขี่รถยนต์นั่นเอง แต่ยังไม่เป็นเครื่องการันตีว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะได้นำเข้าก๊าซ LNG มาใช้ได้ทันทีในเร็วๆ นี้

- Advertisment -

ทั้งนี้ เนื่องจากว่าผู้ได้รับใบอนุญาตเป็น Shipper จะต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน เช่น จะต้องประสานงานติดต่อคลังเก็บก๊าซธรรมชาติ (LNG Receiving Terminal) และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อศึกษาความสามารถของระบบก๊าซธรรมชาติ การไปจองใช้ท่อก๊าซฯ กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสร้างท่อก๊าซฯ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของธุรกิจก๊าซฯ รวมถึงต้องตรวจสอบคุณภาพก๊าซฯ ที่เหมาะสม และต้องขออนุญาตจากภาครัฐ เนื่องจากภาครัฐจะพิจารณาให้นำเข้าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเป็นสำคัญ

โดยล่าสุด นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาย้ำว่า Shipper แต่ละรายจะต้องได้รับอนุญาตจากภาครัฐก่อนจึงจะนำเข้า LNG ได้จริง โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อนเท่านั้น ถึงจะนำเข้ามาใช้ได้จริง เนื่องจากภาครัฐต้องดูภาพรวมการนำเข้าก๊าซฯ ไม่ให้มีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและราคาไม่กระทบต่อประชาชน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ.

“การให้ใบอนุญาตเป็น Shipper ดังกล่าว กกพ. ไม่ต้องการให้กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เดิมที่มีอยู่ กกพ. จึงได้ออกกฎกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยผู้มาขอเป็น Shipper ต้องทราบว่าจะนำก๊าซฯ ไปใช้ในที่ใดอย่างชัดเจน และต้องเป็นการนำเข้าก๊าซฯ ส่วนเกินจากสัญญาซื้อขายเดิมที่มีอยู่” นายคมกฤช กล่าว

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH)  ได้รับใบอนุญาตเป็น Shipper นำเข้าก๊าซ 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อผลิตไฟฟ้าให้โรงไฟฟ้าหินกอง โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ มีความต้องการใช้ก๊าซฯ แน่นอน และอยู่นอกเหนือสัญญาก๊าซฯ เดิมที่บริษัทฯมีข้อผูกพันไว้ ดังนี้ จึงจะผ่านเกณฑ์ได้รับใบอนุญาต เป็นต้น

ที่สำคัญ ผู้ได้รับใบอนุญาตทุกรายจะต้องศึกษาโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ โครงสร้างราคา และกฎกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Third Party Access – TPA Codes ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อประโยชน์ในการนำเข้า LNG ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และในจังหวะที่เหมาะสม

จะเห็นว่าทิศทางธุรกิจก๊าซธรรมชาติในเมืองไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง กกพ. ได้เริ่มปรับตัวออกกฎกติกาและวางรากฐาน เพื่อความเป็นธรรมกับผู้เล่นทุกฝ่าย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระบบและเทคโนโลยีพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้และในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างมั่นคงบนพื้นฐานของความเท่าเทียมด้านพลังงานต่อไป


ERC Sandbox

นอกจากนโยบายเปิดเสรีก๊าซฯ แล้ว กกพ. ยังเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดการทดลองนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบต่างๆ ด้านพลังงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองจริงภายใต้   “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox)” เป็นการผ่อนผัน ผ่อนปรนให้ภาคเอกชนหรือองค์กรที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการพิเศษในพื้นที่และระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งหากติดปัญหาข้อกฎหมายใดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกพ. ก็สามารถปรับแก้ไขให้เป็นการเฉพาะได้ และหากโครงการประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์​ทาง กกพ. จะพิจารณาเปิดโอกาสให้ดำเนินการได้แบบเป็นการทั่วไปในอนาคต

หนึ่งในโครงการ ERC Sandbox ที่น่าจับตามอง คือ โครงการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ซึ่งเป็นโครงการนำเข้าเพื่อส่งออกก๊าซฯ ที่มีเป้าหมายให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซฯ ในภูมิภาคอาเซียน ตามนโยบายรัฐ โดยในปลายปี 2563 นี้ จะเริ่มทดลองนำเข้าเพื่อส่งออกได้ หากประสบความสำเร็จจะเป็นก้าวสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงจรธุรกิจก๊าซฯ ในไทยเป็นอย่างมาก

สำหรับโครงการที่อยู่ใน ERC Sandbox มี 34 โครงการ ได้แก่

1.โครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) 8 โครงการ

2.โครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) 6 โครงการ

3.โครงการทดสอบเกี่ยวกับระบบกักเก็บประจุไฟฟ้า (Battery Storage) 9 โครงการ

นอกจากการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซและโครงการ  ERC Sandbox แล้ว กกพ. ยังดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปีละ 100 เมกะวัตต์​ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายเข้าระบบส่งไฟฟ้าได้ในราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่ง กกพ. พิจารณาแล้วว่าราคาดังกล่าวไม่กระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชน โดยผู้ไม่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปก็ไม่เกิดการเสียผลประโยชน์

Advertisment

- Advertisment -.