กกพ. คาดใช้กว่า 2.8 หมื่นล้าน ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า สู้ COVID-19

- Advertisment-

จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ  COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในหลายๆด้าน และรัฐบาลต้องออกมาตรการ “อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ” ซึ่งผลพวงจากมาตรการดังกล่าว คือ ค่าไฟฟ้าของประชาชนพุ่งขึ้นสูงกว่าปกติ ทั้งจากการที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ และปัญหาสภาพอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ มี.ค. ถึง สิ้นเดือน พ.ค.2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออก 8 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินวงเงินรวมกันประมาณ 28,450 ล้านบาท 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ.

โดยมาตรการตามนโยบายภาครัฐและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า 8 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่

- Advertisment -
  1. ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) รอบเดือน พ.ค.-ส.ค.2563 ไว้ที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลง 11.60 สตางค์ต่อหน่วยจากค่าไฟฟ้าฐาน คิดเป็นวงเงินรวม 5,120 ล้านบาท
  2. คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กกว่า 23 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ วงเงินรวมที่มีสิทธิ์ขอคืนประมาณ 33,000 ล้านบาท เริ่มทยอยขอคืนตั้งแต่ มี.ค. 2563
  3. ลดค่าไฟฟ้า 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2563) รวมเป็นเงิน 5,610 ล้านบาท
  4. ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรม โดยให้จ่ายตามความเป็นจริง เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.2563
  5. เพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในมาตรา97 (3) หรือกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า อีก 1,546.32 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 2,494 ล้านบาท เพื่อช่วยภัยแล้งและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แต่เพื่อให้ทันต่อการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2563 กกพ.ได้มีมติให้คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า(คพรฟ.) มีอำนาจอนุมัติโครงการชุมชนที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขภายใต้กรอบงบประมาณเพิ่มเติมดังกล่าว เช่น โครงการที่มีลักษณะจัดซื้อยาหรืออุปกรณ์การแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาและป้องกัน COVID-19 เป็นต้น
  6. ออกมาตรการ Regulation Zero หรือ การยกเว้นการปฏิบัติตามระยะเวลาในขั้นตอนต่างๆ เช่น การต่ออายุใบอนุญาตในกรณีไม่มีประเด็นปัญหาด้านต่างๆ และการนับระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตและผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของสำนักงาน กกพ. ในช่วง COVID-19 ให้สามารถยืดหยุ่นเวลาได้มากขึ้น
  7. ด้านการให้บริการแก่ผู้รับใบอนุญาตและผู้ประสงค์จะประกอบกิจการพลังงาน สำนักงาน กกพ. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติและวิธีการใช้บริการในสถานการณ์ COVID-19 เช่น ในกรณีการปิดสำนักงาน กกพ.จากผลกระทบ COVID-19 ได้อนุโลมให้ผู้ประกอบกิจการพลังงาน ใช้หนังสือแจ้งมติ กกพ. ในการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานและใบอนุญาตอื่นที่เกี่ยวข้องแทนสำเนาใบอนุญาตได้ และเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจึงนำส่งสำเนาดังกล่าวในภายหลัง และ

8. มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 เพิ่มเติม แบ่งเป็น

  1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน หรือขนาดมิเตอร์ 5 แอมป์ ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.2563) หากใช้เกิน 150 หน่วยภายใน 3 เดือนดังกล่าวจะไม่ถูกเลื่อนชั้นเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น
  2. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน หรือมีมิเตอร์ขนาด 15 แอมป์ขึ้นไป ให้จ่ายค่าไฟฟ้างวดเดือน มี.ค.- พ.ค.2563 เท่ากับเดือน ก.พ. 2563 บนเงื่อนไข
  • ถ้าใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าเดือน ก.พ. 2563 ให้จ่ายตามจริง แต่หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดือน ก.พ. 2563 แต่ไม่เกิน 800 หน่วยให้จ่ายเท่ากับเดือน ก.พ. 2563
  • แต่หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดือน ก.พ. 2563 และมากกว่า 800 หน่วยแต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือน ก.พ. 2563 บวกด้วย 50% ของค่าไฟฟ้าส่วนเกินจากเดือน ก.พ. 2563
  • และหากใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดือน ก.พ. 2563 และมากกว่า 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือน ก.พ. 2563 บวกด้วย 30% ของค่าไฟฟ้าส่วนเกินจากเดือน ก.พ. 2563

นายคมกฤชกล่าวว่า แม้มาตรการลดค่าไฟฟ้าช่วง COVID-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นเดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา แต่ในเดือน มิ.ย. 2563 ยังเหลือมาตรการลดค่าไฟฟ้า 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท และมาตรการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่ แต่หลังจากนั้น กกพ. จะมาพิจารณาความเหมาะสมในการช่วยเหลือ โดยต้องดูฐานะการเงินที่ กกพ. เหลืออยู่ด้วยว่าจะดูแลประชาชนได้อย่างไรต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.