รัฐอาจขอโรงกลั่นที่มีกำไรบริจาคเงินช่วยกองทุนน้ำมันแทนใช้กฏหมายบังคับ

- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน เผยอาจใช้วิธีขอให้โรงกลั่นบริจาคตามแนวทางบริษัทที่มีธรรมาภิบาลแทนการใช้กฏหมายกองทุนน้ำมันฯ มาบังคับ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขอความร่วมมือโรงกลั่นให้ส่งกำไรค่าการกลั่นให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำมาดูแลราคาพลังงาน ว่า ได้ให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นไปร่วมกันพิจารณาแนวทางการนำเงินมาช่วยเหลือราคาพลังงานประชาชน โดยจะได้คำตอบภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ในแนวทางดำเนินการอาจมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจากการใช้กฏหมาย เป็นวิธีการให้ความช่วยเหลือตามหลักธรรมาภิบาลของบริษัทฯ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกองทุนน้ำมันฯ และจะให้ดำเนินการเป็นมาตรการระยะสั้น 3 เดือน

- Advertisment -

โดยได้ส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการพิจารณาถึงการมีธรรมาภิบาล ที่ไม่ควรมุ่งผลกำไรสูงสุดอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงประชาชนและสิ่งแวดล้อมด้วย แม้ปัจจุบันราคาน้ำมันจะเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี แต่การขึ้นราคาน้ำมันติดต่อกันต่อเนื่องก็จะกระทบผู้บริโภค ซึ่งบริษัทที่มีความยั่งยืนด้านพลังงานและมีธรรมาภิบาลควรช่วยเหลือประชาชนด้วย ซึ่งเชื่อว่าโรงกลั่นทุกรายในประเทศนั้นมีธรรมาภิบาล ไม่ได้คำนึงถึงกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน กล่าวว่า กรณีที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้ 6 โรงกลั่นน้ำมัน ประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ,บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ,บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ,บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ,บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เร่งสรุปแนวทางนำส่งเงินกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตน้ำมันแพงนั้น ขณะนี้ทั้ง 6 โรงกลั่นยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐ ถึงแนวทางดำเนินการเพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน โดยเบื้องต้น มองว่า ภาครัฐควรจะต้องออกระเบียบ กติกา หรือ ข้อกฏหมายขึ้นมารองรับการดำเนินงานให้เกิดความชัดเจน และตอบข้อสงสัยของทุกฝ่ายได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา หรือปัญหาฟ้องร้องตามมาภายหลัง ขณะเดียวกัน การเก็บส่วนต่างจากกำไรค่าการกลั่น อาจใช้กฏหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ เข้ามาดำเนินการได้ แต่ก็ต้องรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาข้อกฏหมายหมายต่างๆให้ถี่ถ้วน และน่าจะต้องมีการออกกฏหมายลูกขึ้นมารองรับด้วย ซึ่งก็น่าจะใช้เวลาดำเนินการสักระยะ

ดังนั้น ตามแผนเดิมที่ภาครัฐต้องการให้ทั้ง 6 โรงกลั่น เริ่มดำเนินการจัดส่งส่วนต่างค่าการกลั่นเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯ เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2565 นั้น ก็อาจจะต้องขยับระยะเวลาดำเนินการออกไปจนกว่า การพิจารณาข้อกฏหมายต่างๆเพื่อมารองรับการดำเนินการจะแล้วเสร็จ

ส่วนหลักเกณฑ์การเก็บเงินจากส่วนต่างกำไรของค่าการกลั่นเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯจะเป็นเท่าไหร่นั้น ยังต้องเจรจาร่วมกัน เพราะขณะนี้ ธุรกิจโรงกลั่น ต้องเผชิญกับความเสี่ยง จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาท 1 บาทต่อดอลลาร์ จะกระทบต่อต้นทุนราคาประมาณ 20 สตางค์ต่อลิตร ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ประเทศ ปี 2565 นี้ อาจไม่ถึง 2.5-3% ตามที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตามการดูแลผลกระทบจากราคาน้ำมันไม่ให้ปรับสูงขึ้นจนเกินไปก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการเพื่อพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน รายงานถึง ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 มิ.ย.65 นั้น พบว่า มีสถานะติดลบสูงถึง 102,586 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สินทั้งจากเข้าไปชดเชยราคาดีเซลและLPGรวมแล้ว กว่า 120,976 ล้านบาท โดยเจ้าหนี้เงินชดเชยที่กองทุนน้ำมันยังค้างไว้ก็คือบรรดาโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมัน

ทั้งนี้ภาระหนี้ 120,976 ล้านบาทแบ่งเป็นส่วนของหนี้ที่ค้างชดเชยน้ำมันดีเซล 81,861 ล้านบาท และ LPG อีก 39,119 ล้านบาท

Advertisment

- Advertisment -.