ไทยไม่ซื้อแต่เวียดนามรีบคว้า แหล่งพลังงานลม ดีที่สุดในลาว เซ็นสัญญา​ซื้อไฟฟ้า 25ปี กับ IEAD

- Advertisment-

การไฟฟ้าเวียดนามและ IEAD ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม มอนสูน สปป.ลาว กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ จากที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานของไทย ปฏิเสธที่จะซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่มีศักยภาพของพลังงานลมที่ดีที่สุดในภูมิภาคดังกล่าว

วานนี้ (12 กรกฎาคม 2564) การไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (EVN) และ บริษัท อิมแพค เอนเนอร์ยี่ เอเซีย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (Impact Energy Asia Development Limited – IEAD) ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “โครงการ มอนสูน” ขนาด 600 เมกะวัตต์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นระยะเวลา 25 ปี เรียบร้อยแล้ว ทำให้โครงการ มอนสูน เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกที่มีการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน ระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ผ่านสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568

โครงการ มอนสูน เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวครอบคลุมพื้นที่ในแขวงเซกองและอัตตะปือ ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว จะเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดส่งไปยังเมืองดานัง เมืองท่าสำคัญของเวียดนามกลางตอนใต้ เพื่อรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจของเวียดนาม รวมทั้งช่วยสร้างสมดุลด้านอุปสงค์และอุปทานให้กับโครงข่ายไฟฟ้าในเวียดนาม โดยเฉพาะในฤดูแล้งซึ่งเป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ เขื่อน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อย และยังมีส่วนช่วยผลักดันเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ของทั่วโลก ภายในปี 2050 โดยพลังงานสะอาดที่ผลิตได้ตลอดอายุของโครงการ มอนสูน คาดว่ามีปริมาณเทียบเท่ากับการลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 35 ล้านตัน

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่าเป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อเดือน มิ.ย.2559 รัฐมนตรีช่วยพลังงานของ สปป.ลาว ได้นำเสนอโครงการดังกล่าว เพื่อขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย ในช่วงที่ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย โดยชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของโครงการพลังงานลม มอนสูน ที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่า ที่ฝ่ายไทยจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เอง แต่ฝ่ายไทย ปฏิเสธที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ ทำให้ผู้พัฒนาโครงการหันไปเจรจาที่จะขายไฟฟ้าให้กับเวียดนามแทน

” IEAD ได้เริ่มพัฒนาโครงการ มอนสูน ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงเซกองและอัตตะปือ ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว มาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนกับเวียดนามในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จที่แสดงถึงความร่วมมือฉันท์มิตรระหว่างลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น และไทย เพื่อมุ่งสู่ภารกิจสำคัญในระดับโลก คือ บรรลุการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) เราเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการมุ่งมั่นสร้างความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน” ภราไดย สืบมา ประธาน IEAD กล่าว

สำหรับ มอนสูน ถือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่พัฒนาโดยคนไทย ในนามกลุ่มอิมแพค เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (Impact Electrons Siam Company Limited – IES) โดยที่ บีซีพีจี เข้ามาร่วมถือหุ้นในตอนหลัง โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ประกอบด้วย บริษัท อิมแพค วินด์ อินเวสเม้นท์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 55 และ บีพีซีจี ถือหุ้นร้อยละ 45

ทั้งนี้ บริษัท อิมแพค วินด์ อินเวสเม้นท์ จำกัด มีผู้ถือหุ้น 2 บริษัท คือ บริษัท ไดมอนด์ เยนเนอเรติ้ง เอเซีย จำกัด (Diamond Generating Asia Limited) เป็นบริษัทในเครือของ มิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น (Mitsubishi Corporation) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ถือหุ้นร้อยละ 43 และบริษัทในเครือของ IES ซึ่งเป็นผู้พัฒนาพลังงานทดแทนระดับภูมิภาคของเอกชนไทย ถือหุ้นร้อยละ 57

Advertisment

- Advertisment -.