กกพ.ให้เวลา 151 รายตกเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน ยื่นอุทธรณ์​ใน 1 เดือนหากพบผิดพลาดไม่มากพร้อมประกาศชื่อเพิ่มให้

- Advertisment-

บริษัทพลังงานที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พาเหรดผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและเทคนิคในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 150 เมกะวัตต์ โดย กกพ. ระบุผู้ไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค ทั้ง 151รายจะให้เวลา 1 เดือนในการยื่นอุทธรณ์​ หากพบเอกสารผิดพลาดไม่มาก จะพิจารณาประกาศรายชื่อเพิ่มเติมให้ พร้อมกำหนดวันเปิดซองประมูล 1 ก.ย. 2564 ก่อนประกาศผล 2 ก.ย. 2564 นี้ ยืนยันชุมชนและเกษตรกรจะต้องได้ประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ภายหลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ปริมาณรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ ไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 95 ราย จากทั้งหมด 246 ราย และไม่ผ่านเกณฑ์อีกจำนวน 151 ราย นั้น

รายชื่อของผู้ที่ผ่านเกณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นบริษัท ในเครือของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อาทิ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ซึ่งยื่นเสนอโดย บริษัทย่อยในกลุ่ม จำนวน 29 โครงการ ซึ่งผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเทคนิคทั้งหมด โดย มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 93 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 78.85 เมกะวัตต์

- Advertisment -

บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ซึ่งได้ยื่นเสนอโครงการไปทั้งสิ้น 10 โครงการ โดยมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคจำนวน 8 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 27 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 7 โครงการ โรงไฟฟ้าชีวภาพ 1 โครงการ และไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคจำนวน 2 โครงการ โดยทาง TPCH ระบุจะยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการต่อไป

บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ยื่นเสนอ 6 โครงการ โดยผ่านคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 6 เมกะวัตต์ ส่วนที่ไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคจำนวน 4 โครงการ ก็จะยื่นอุทธรณ์และรอตรวจสอบดูว่าไม่ผ่านคุณสมบัติในข้อใดก่อนเช่นกัน
ส่วน บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI มี บริษัทร่วมทุนผ่านเกณฑ์ 1 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้า 3.5 เมกะวัตต์ และไม่ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค จำนวน 6 โครงการ จากที่ยื่นข้อเสนอทั้งหมด 7 โครงการ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เสนอโครงการและผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเทคนิคในครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำเอกสารที่รัดกุมและชัดเจน จากประสบการณ์ที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มาก่อนจึงได้เปรียบกว่าบริษัทรายเล็กๆ

สำหรับบริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณา กกพ.จะให้เวลา 1 เดือนในการยื่นอุทธรณ์ หากพบว่าเอกสารผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็อาจประกาศรายชื่อให้ผ่านเกณฑ์เพิ่มเติมได้ต่อไป

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกและได้ร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ก็ยังจะช่วยให้ เกษตรกรและชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการฯนี้ เนื่องจากมีข้อกำหนดเรื่องการแบ่งปันประโยชน์กันชัดเจน เช่น บริษัทที่ร่วมโครงการต้องมีการทำเกษตรพันธสัญญา ( contract farming ) กับวิสาหกิจชุมชนที่จะซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่องสำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมทั้งบริษัทต้องมอบหุ้นบุริมสิทธิ 10% ให้กับวิสาหกิจชุมชน และให้ผลตอบแทนกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ส่วนเงินจากไฟฟ้าที่ขายได้ก็จะต้องแบ่งเข้ากองทุนหมู่บ้าน ตามหลักเกณฑ์ของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนด้วย เป็นต้น

สำหรับขั้นตอนจากนี้ จะเป็นไปตามประกาศของ กกพ. เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 ที่ประกาศขยายเวลาขั้นตอนต่างๆ ออกไปอีก 7 วัน เนื่องจากความล่าช้าในการตรวจสอบเอกสารด้านคุณสมบัติและเทคนิคที่ผ่านมา เพราะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ทำให้การตรวจสอบต้องใช้เวลามากขึ้น ดังนั้นไทม์ไลน์ใหม่ของกระบวนการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนจากนี้จะเปิดโอกาสให้ยื่นอุทธรณ์สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณา และประกาศผลการอุทธรณ์อีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค. 2564 จากนั้น ทาง กกพ.จะเปิดซองประมูลราคาในวันที่ 1 ก.ย. 2564 และประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการในวันที่ 2 ก.ย. 2564 และให้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า( PPA )ภายใน 120 วันนับจากวันประกาศผล หรือภายใน 31 ธ.ค. 2564 และให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 31 ธ.ค. 2567

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน รายงานด้วยว่า บริษัทพลังงานที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมในโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล 140 เมกะวัตต์ได้อีก

โดยโครงการดังกล่าวภาครัฐมีเป้าหมายต้องการช่วยเหลือผู้ผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งระบบและมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้วแต่ยังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้ เพราะรัฐยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าที่จะเข้าร่วมโครงการได้เบื้องต้นนอกจากจะต้องมีความพร้อมด้านโรงไฟฟ้าแล้ว ยังต้องมีการปรับปรุงด้านสายส่งไฟฟ้าด้วย หรือเป็นโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) มาก่อน จึงสามารถพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการได้

โดยโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล เป็นนโยบายที่กระทรวงพลังงงานได้แปลง โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในระยะเร่งด่วน หรือ Quick Win จำนวน 100 เมกะวัตต์เดิม ให้เป็น “โครงการโรงไฟฟ้าขยายผล” เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ยกเลิกกลุ่ม Quick Win ออกไป ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้แล้วไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้นั่นเอง

สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลนั้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากนั้นจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาอนุมัติเปิดโครงการต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.