เขียนเล่าข่าว​ EP​ ​35​ เพดานดีเซล​ 32​ บาทต่อลิตร ค่าครองชีพจะลดลงไหม?

N4027
- Advertisment-

ถ้าใครติดตามข่าวน้ำมันดีเซลมาโดยตลอดจะเห็นว่าทุกรัฐบาลในอดีต​ พยายามใช้กลไก​ที่มีอยู่ ทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิต​ รักษาระดับราคาขายปลีกดีเซล​เอาไว้ไม่ให้เกิน​ 30​ บาทต่อลิตร​ โดยในช่วงราคาน้ำมันตลาดโลกขาลง​ รัฐจะจัดเก็บเงินจากดีเซล​ เข้าไปสะสมในกองทุนน้ำมัน​รวมถึงการเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลในอัตราที่สูงเกินกว่า​ 5​ บาทต่อลิตร​ ในขณะที่ช่วงราคาน้ำมันขาขึ้น​ รัฐจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันที่สะสมไว้​ เอาไปตรึงราคาขายปลีกดีเซล​ให้ค่อยๆขยับราคาขึ้น​ โดยหากใช้กองทุนน้ำมันช่วยแล้ว​ แต่ระดับราคายังจะทะลุเกิน​ 30​ บาทต่อลิตร​ จึงค่อยใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตมาช่วยตรึงเอาไว้

อย่างไรก็ตาม​ผลกระทบจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ฉุดให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนในระดับสูงในช่วงปี​ 2565​ ส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศทั้งดีเซลและกลุ่มเบนซิน​ เป็นอย่างมาก​ ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่เป็นส่วนผสมในดีเซล​ ก็ขยับสูงเกินกว่าราคาเนื้อน้ำมันดีเซล​ สิ่งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ และรัฐมนตรีพลังงานพยายามดำเนินการคือ​ การตรึงราคาขายปลีกดีเซลเอาไว้​ ไม่ให้เกิน​ 30​ บาทต่อลิตร​ ส่วนกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์นั้นปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด​

แต่ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน​ ให้ผลลัพธ์​คือ​ รัฐต้องขยับเพดานราคาขายปลีกดีเซลขึ้นเป็นระยะ​ จากไม่เกิน​ 30​ บาทต่อลิตร​ เป็นไม่เกิน​ 35​ บาทต่อลิตร​ เพื่อช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง​ หลังจากที่เงินไหลออกมากจนฐานะที่เคยเป็นบวกมีเงินสะสมไว้หลายหมื่นล้านบาท​ กลายเป็นกองทุนที่เริ่มติดลบ​ ติดลบมาก​ ติดลบมากขึ้น​ และติดลบมากเป็นประวัติการณ์​ ถึง 1.3​ แสนล้านบาท​ จนรัฐต้องใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตมาช่วยเป็นการชั่วคราวประมาณ​ 5​ บาทต่อลิตร​ และขยายระยะเวลาออกไปหลายครั้ง​ ซึ่งครั้งล่าสุดสิ้นสุดในวันที่ ​20​ ก.ค. 2566

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่กลับมาอยู่ในช่วงขาลง​ ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลกลับคืน​ และทะยอยปรับลดราคาขายปลีกดีเซลลงจาก​ 35​ บาทต่อลิตรเหลือ​ 32​ บาทต่อลิตร และกองทุนน้ำมันก็เริ่มมีตัวเลขติดลบลดลง​ โดย​ ณ​ วันที่ 16 ก.ค. 2566 กองทุนน้ำมันติดลบเหลือ​ 49,829 ล้านบาท​ โดยที่ยังเก็บเงินจากดีเซลเข้ากองทุนอยู่ที่ประมาณ​ 4.04​ บาทต่อลิตร

สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผ่อนคลายลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว​ ทำให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง​ หรือ​ สกนช.​ออกมาแจ้งข่าวดีต่อผู้ใช้ดีเซลให้คลายกังวล​ ว่า ถึงแม้ว่า​ มาตรการช่วยเหลือด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดในวันที่​ 20​ ก.ค.2566​ แต่รัฐโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ​ กบน. จะยังคงราคาขายปลีกดีเซลอยู่ที่​ 32 บาทต่อลิตร​โดยส่วนที่ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะปรับขึ้น 5 บาทต่อลิตรจะไม่ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น เพราะจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยแทน​ โดยแม้ว่าฐานะเงินกองทุนน้ำมันจะยังคงติดลบ แต่ สกนช.​ เชื่อว่ากองทุนยังมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นหลังจากได้เงินกู้ยืมเข้ามาเติมในระบบ และสถานการณ์น่าจะดีขึ้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง

มองว่าตัวเลขเพดานราคาดีเซล​ที่​ 32​ บาทต่อลิตร​จะยังอยู่ในระดับนี้ไปจนกว่า​ ฐานะกองทุนน้ำมันจะกลับมาเป็นบวกและชำระคืนหนี้เงินกู้ที่มีอยู่ให้หมด​ ยกเว้นว่ารัฐบาลชุดใหม่จะอยากประชานิยมต่อ​ กระชากเพดานราคาดีเซลลงมาให้อยู่ที่ระดับ​ 30​ บาทต่อลิตรเหมือนที่เคยเป็นมา​ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น​จริง​ รัฐบาลก็ต้องช่วยดึงค่าครองชีพทั้งราคาสินค้าและค่าขนส่งที่เคยปรับขึ้นไปเมื่อตอนที่ดีเซลราคา​ 35​ บาท​ต่อลิตร​ ให้ปรับลดลงมาด้วยจึงจะเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

Advertisment

- Advertisment -.