“สนธิรัตน์” เสนอ 6 แนวทางแก้วิกฤติราคาพลังงาน

- Advertisment-

“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีตรัฐมนตรีพลังงานและแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย แนะรัฐบาล 6 แนวทางเร่งด่วนแก้ปัญหาวิกฤติราคาพลังงาน ช่วยเหลือประชาชน เน้นเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ ปรับสูตรคิดตามต้นทุนแท้จริง เชื่อช่วยลดราคาน้ำมันได้ ชี้ควรใช้เป็นมาตรการระยะสั้น 3 เดือน ก่อนศึกษาผลดีเสียทั้งระบบเพื่อใช้ระยะยาว พร้อมลดภาษีน้ำมัน แบ่งส่วนจัดเก็บเป็นภาษีคาร์บอน เพื่อนำเงินไปส่งเสริมผลิตพลังงานทดแทน ป้องกันการกีดกันการค้า และผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานทดแทนด้วยการหนุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์ประชาชน 1,000 เมกะวัตต์ พร้อมเสนอต้องเร่งหาแหล่งก๊าซฯสำรองทดแทนอ่าวไทยที่จะหมดใน 10 ปีข้างหน้า และจะเป็นระเบิดเวลาทางพลังงานหากไม่เร่งเตรียมการในวันนี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ได้เสนอแนวคิดเร่งด่วนแก้ไขปัญหาราคาพลังงานแพงว่า ในฐานะที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงอยากเสนอ 6 แนวทางเร่งด่วนแก้ไขปัญหาราคาพลังงานแพงเพื่อช่วยเหลือประชาชน ได้แก่ 1.ลดต้นทุนที่แฝงในราคาน้ำมันออกไป ด้วยการยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์ มาเป็นราคาน้ำมันตามต้นทุนที่แท้จริง ด้วยการคำนวณราคานำเข้าน้ำมันบวกกับค่าการกลั่นเท่านั้น ก็จะได้ราคาต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้ราคาน้ำมันลดลงได้ส่วนหนึ่ง แต่เบื้องต้นควรนำมาใช้ในระยะสั้น 3 เดือนก่อน ส่วนในระยะยาวจะต้องศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนอื่นๆร่วมด้วย แต่หากพบว่าส่งผลดีกว่าการอ้างอิงราคาสิงคโปร์ก็สามารถนำมาปรับใช้ต่อไป

นอกจากนี้หากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) สร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่เสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยก็จะมีโรงกลั่นใหญ่สุดในอาเซียน มีกำลังการผลิตน้ำมันสูง จนสามารถกลายเป็นศูนย์กลางการส่งออกน้ำมันในอาเซียนได้ต่อไปอีกด้วย

- Advertisment -

2.ส่งสัญญาณให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ถึงสถานการณ์และผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง โดยจัดทำเงื่อนไขกรณีหากราคาน้ำมันสูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือสูงกว่าในระดับที่เท่าไหร่จะต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ที่ภาครัฐตรึงไว้ 30 บาทต่อลิตร ทั้งนี้เพื่อช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่การช่วยเหลือยังจำเป็นสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไม่ใช่การช่วยเหลือทุกคนที่ใช้ดีเซล เพราะจะกลายเป็นว่าผู้ใช้น้ำมันเบนซินจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อไปอุ้มคนรวยที่ใช้รถดีเซลด้วย ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมขึ้น

นอกจากนี้ต้องขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันลดค่าการตลาดน้ำมันลงในช่วงวิกฤติราคาพลังงาน รวมทั้งต้องใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส โดยรื้อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาบริหารใหม่ แบ่งเป็นการบริหารราคาพลังงานในยามวิกฤติกับในช่วงปกติ เป็นต้น

3.การปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน โดยลดภาษีน้ำมันลง ส่วนหนึ่ง และส่วนที่จัดเก็บภาษีน้ำมันก็ต้องแยกบัญชีภาษีน้ำมันและภาษีคาร์บอน เช่น ให้ประชาชนจ่ายภาษีน้ำมัน 1 บาทต่อลิตร และจ่ายภาษีคาร์บอน 1 บาทต่อลิตร และต้องลดภาษีลงให้ประชาชนอีกส่วนหนึ่งด้วย เนื่องจากปัจจุบันโลกกำหนดการเก็บภาษีสินค้าที่ไม่ได้ผลิตจากพลังงานสะอาด หากนำเข้าไปในยุโรปจะต้องเสียภาษีเพิ่ม ดังนั้นเพื่อรองรับทิศทางโลกดังกล่าว ควรเก็บภาษีคาร์บอนรถที่ปล่อยมลพิษสูง และนำเงินดังกล่าวไปส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน

4.ต้องเร่งบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพราะวิกฤติก๊าซฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถือเป็นระเบิดเวลาพลังงานที่สำคัญของประเทศในขณะนี้ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยคาดว่าจะเหลือใช้ได้อีกแค่ 10 ปีจากนี้ หากพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เพียงอย่างเดียวจะเป็นจุดเปราะบางของประเทศ ดังนั้นควรเริ่มมามองหาซัพพลายก๊าซฯใหม่ๆ เช่น การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งใหม่ๆ หรือมองหาแหล่งก๊าซฯที่จะเข้ามาเสริมระบบให้ได้ในอนาคต เช่น แหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เป็นต้น

5.สำหรับในส่วนของค่าไฟฟ้ายอมรับว่าในระยะสั้นคงทำอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าของไทย 60% ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และไทยมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวเป็น 20 กว่าปี ดังนั้นแนวทางระยะยาวที่ทำได้คือเตรียมหาก๊าซฯมาทดแทนแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย และตั้งทีมงานมาบริหารจังหวะการซื้อ LNG ตามนโยบายว่าต้นทุนที่เท่าไหร่จึงจะซื้อมาเก็บไว้ใช้ได้ เป็นต้น และการผลักดันการใช้พลังงานสะอาดผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อไม่ให้ราคาเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าสูงเกินไป ก็จะช่วยดูแลค่าไฟฟ้าประชาชนได้ส่วนหนึ่ง

  1. การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) หากตัวเองกลับมาบริหารด้านพลังงานอีกครั้ง ยืนยันว่าจะผลักดันโครงการโซลาร์ประชาชน 1,000 เมกะวัตต์ ให้สำเร็จ เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานสะอาด โดยระยะแรกจะต้องลดภาษีนำเข้าโซลาร์เซลล์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต และระยะที่ 2 จะต้องขึ้นภาษีนำเข้า เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตเองในประเทศ แต่ราคาต้องแข่งขันได้ด้วย นอกจากต้องแก้กฎหมายเพื่อให้มีการใช้ระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบ Net Metering หรือระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตได้เองของแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) และให้มีการติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ ซึ่งเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวสามารถดำเนินการได้แน่นอน และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการต่อไปด้วย
Advertisment

- Advertisment -.