รมว.พลังงาน เผยแผนปี 2567 เร่งปรับโครงสร้างน้ำมัน หลังปี 2566 ใช้เงิน 1 แสนล้านบาทแก้วิกฤติราคาพลังงาน

- Advertisment-

พลังงาน ประกาศนโยบายปี 2567 เร่งปรับโครงสร้างน้ำมันทุกส่วน สร้างความเป็นธรรมด้านราคา รัฐมนตรีพลังงานระบุกำลังพิจารณาทั้งมาตรการภาษีน้ำมันกลุ่มเบนซินที่จะสิ้นสุด 31 ม.ค. 2567, มาตรการยกร่างกฎหมายราคาน้ำมันเพื่อเกษตรกร และมาตรการเกี่ยวกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ปลัดพลังงาน เผยปี 2566 ใช้งบแก้วิกฤติราคาพลังงานประมาณ 1 แสนล้านบาท

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงผลงานกระทรวงพลังงานปี 2566 และแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2567 ในหัวข้อ “ปีแห่งการขับเคลื่อนพลังงานไทย สู่อนาคตที่ดีกว่า” ว่า ในปี 2567 กระทรวงพลังงานจะเร่งปรับโครงสร้างน้ำมัน เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมามีการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแลราคาน้ำมันในประเทศเป็นเวลานาน แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ ดังนั้นการปรับโครงสร้างน้ำมันจะทำให้กระทรวงพลังงานได้เห็นข้อมูลต้นทุนราคาที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เบื้องต้นจะมีการปรับโครงสร้างหลายด้าน เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันมีสถานะเงินติดลบกว่า 8 หมื่นล้านบาทจากการเข้าไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG), การร่างกฎหมายน้ำมันเพื่อเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำร่างกฎหมายแล้วและภาครัฐกำลังเตรียมพิจารณาด้านความเป็นไปได้ เบื้องต้นราคาน้ำมันเพื่อเกษตรกรจะต้องเป็นราคาเดียวกับน้ำมันเพื่อชาวประมง หรือ น้ำมันเขียว, และราคาน้ำมันกับค่าการตลาด ที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เป็นต้น

- Advertisment -

สำหรับในส่วนของมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ที่จะสิ้นสุด วันที่ 31 ม.ค. 2567 นี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เบื้องต้นหากราคาน้ำมันโลกกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ปรับสูงขึ้น ก็อาจจะต้องพิจารณาขอต่ออายุมาตรการลดภาษีดังกล่าวออกไป แต่ปัจจุบันพบว่าราคาน้ำมันโลกไม่ได้สูงมาก โดยราคากลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าในช่วงเดือน พ.ย. 2566 ที่เริ่มต้นมาตรการ ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 38 บาทต่อลิตร สำหรับแก๊สโซฮอล์ 95และ 91 ดังนั้นต้องขอหารือกันก่อนว่าจะช่วยเหลือด้านราคากลุ่มนี้ต่อหรือไม่ โดยต้องพิจารณาจากฐานการเงินกองทุนฯ และฐานะการคลังของประเทศร่วมด้วย

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างการพิจารณา “มาตรการยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ” ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2567 นี้ ว่าจะขยายเวลาต่ออีกหรือไม่ เนื่องจากการยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพจะกระทบต่อผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 ได้ ดังนั้นจะต้องพิจารณาร่วมกับแนวทางการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือการปรับเปลี่ยนน้ำมันอากาศยานเป็นน้ำมันชีวภาพ เพื่อเป็นทางออกให้ผู้ประกอบการด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกันในรายละเอียด  

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับผลงานในปี 2566 ที่เป็นช่วงคาบเกี่ยวของ 2 รัฐบาล แต่ทั้ง 2 รัฐบาลก็ได้มีการช่วยเหลือประชาชนโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม รวมทั้งการกำกับดูแลการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนการผลิต

นอกจากนั้น ก็ยังได้มีการบริหารให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซในราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยจากทุกแหล่งที่มา) ซึ่งได้ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสามารถลดลงได้ ทั้งนี้ ในปี 2567 ได้เตรียมนโยบายสำคัญๆ โดยเฉพาะการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ซึ่งจะมุ่งการแก้ไขระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้มานาน ให้มีความเหมาะสม ทันสถานการณ์ โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง จะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ ให้ประชาชนใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และที่สำคัญ การดำเนินการจะวางรากฐานไว้ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย รวมทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างเท่าเทียม

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะความผันผวนด้านพลังงานทั้งปัจจัยจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และ อิสราเอล – กลุ่มฮามาสที่มีความยืดเยื้อ รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ โควิด-19 ล้วนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพของประชาชน กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการสำคัญๆ หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว ซึ่งในส่วนของการช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ปี 2566 ได้ใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งตรึงราคาค่าไฟฟ้า การตรึงราคาน้ำมันดีเซล และการลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม และ NGV นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานก็ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2566 มีการใช้เม็ดเงินลงทุนในภาคพลังงานไปแล้วกว่า 178,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนครอบคลุมทุกภาคส่วน

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในส่วนของผลการดำเนินงานที่สำคัญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในปี 2566 ที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งจากแหล่งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบ การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 จำนวน 3 แปลง และการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G2/61 อย่างราบรื่น

สำหรับในปี 2567 กรมฯ ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการเร่งรัดการลงทุนให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องจากแหล่งในประทศ รวมทั้งส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน กรมฯ ยังได้เตรียมการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ด้วย นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS/CCUS) ทั้งด้านเทคนิค กฎหมาย มาตรการเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน ไม่เกิน 10 ppm) เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป มีการส่งเสริมการติดตั้ง EV Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมัน โดยปี 2567 มีแผนจัดทำมาตรฐานติดตั้งทางไฟฟ้าและกำหนดกรอบการให้บริการติดตั้ง EV Charging Station รวมถึงการลงนาม MOU ระหว่าง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมแผนลดชนิดหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มดีเซล ให้เหลือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานชนิดเดียว (B 7) เนื่องจากเป็นน้ำมันที่สามารถใช้กับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 (น้ำมันทางเลือก) เริ่ม 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาระบบ e-Service เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน มีการพัฒนาระบบ Stockpile และ e-Fuelcard และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-Safety e-Trade และ e-License และระบบสำรองข้อมูลเพื่อรองรับการดำเนินงานในรูปแบบ e-Service รวมทั้ง มีแผนส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ (New Business) ของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า การดำเนินงานของ พพ. ในปี 2566 ได้สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยประชาชนกว่า 10,000 ครัวเรือน การติดตั้งและซ่อมแซมโซลาร์เซลล์สำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ช่วยเหลือชุมชนกว่า 7,200 ครัวเรือน  การเดินหน้าใช้กฎหมาย BEC เต็มตัว และที่สำคัญ พพ.ได้เปิดอาคารใหม่ Net zero energy building อาคารสำนักงานราชการใหญ่ที่สุดในไทย และในปี 2567 นั้น พพ. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ได้เข้าถึงพลังงานสะอาดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแบบครบวงจรมากขึ้น อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง  มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO)สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานรัฐ เป็นต้น

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา สนพ. ได้เร่งจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ. 2566–2580 (ร่างแผนพลังงานชาติ ) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ในภาคพลังงาน ภายในปี 2050 โดยร่างแผน NEP ประกอบด้วยแผนย่อย 5 แผนคือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

ทั้งนี้ ในปี2567 จะมีการทบทวนและปรับปรุง ร่างแผนพลังงานชาติเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเสนอร่างแผนฯ ต่อ กพช. และ ครม. เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ต่อไป นอกจากนี้แผนงานในปี 2567 ของ สนพ. ยังมีเรื่อง การนำเสนอแนวทางการเปิดเสรีในกิจการไฟฟ้า ซึ่งจะมีโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในระยะทดลอง-นำร่อง พ.ศ. 2567 – 2568 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดกลไกการแข่งขันที่สะท้อนต้นทุนทางด้านราคาแทนการอุดหนุนทางด้านราคา และเปิดโอกาสให้มีธุรกิจใหม่ทางด้านพลังงานเกิดขึ้น และภาครัฐสามารถใช้เป็นกลไกให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย

Advertisment

- Advertisment -.