ซีอีโอ ปตท.คาดราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 65 สูงเกิน100 เหรียญสหรัฐ​ต่อบาร์เรล แนะช่วยกันประหยัดการใช้

- Advertisment-

ปตท. คาดราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ ปี 2565 แตะ 103-104 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่อาจจะลดต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้ในปี66 หลังโอเปคเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมแนะประชาชนร่วมมือประหยัดพลังงานช่วงวิกฤตราคาแพง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. คาดการณ์สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปี 2565 จะทรงตัวในระดับสูงที่ระดับประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือ มีราคาเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ระดับ 103-104 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาเฉลี่ยที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ต้นทุนราคาขายปลีกพลังงานโดยรวมของไทยทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และก๊าซหุงต้ม (LPG ) ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้น แนวทางรับมือที่ดี คือ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในช่วงที่ราคาแพง ขณะที่ทุกธุรกิจในกลุ่ม ปตท.ได้มีการทำประกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาไว้รองรับแล้ว

ส่วนปี 2566 คาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะอ่อนตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้ หากไม่มีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในปี 2566 เนื่องจากคาดว่าจะมีซัพพลายน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดมากขึ้น หลังกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก(โอเปค) เตรียมทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเดือนละ 6 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถึงสิ้นปี 2565 นี้ น่าจะมีซัพพลายน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ตลาดอีก 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตมากนัก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันยังไม่หวือหวา จึงน่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงได้ ขณะที่ต้นทุนราคาพลังงานอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก็คาดว่าจะเริ่มทยอยอ่อนตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมัน แต่ในส่วนของLNG ราคาจะยังปรับขึ้น-ลงตามฤดูกาล

- Advertisment -

นายอรรถพล กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 นี้จนถึงปัจจุบัน ปตท.ได้เข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนราคาพลังงานให้กับกลุ่มเปราะบางทั้งการใช้ส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และก๊าซหุงต้ม (LPG ) รวมเป็นงบประมาณเกือบ 3,300 ล้านบาทแล้ว และจะยังยืดอายุมาตรการช่วยเหลือตามนโยบายรัฐต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง

“วอลลุ่มการใช้พลังงานของไทย ถือว่าใหญ่มาก ที่ผ่านมามีมูลค่าราว 2 ล้านล้านบาท และสิ้นปีนี้ น่าจะเกือบ 3 ล้านล้านบาท สูงขึ้นตามต้นทุนพลังงานที่แพงขึ้น ฉะนั้น การมุ่งความช่วยเหลือไปเฉพาะที่กลุ่มคนเปราะบาง น่าจะเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ในภาวะวิกฤติควบคู่กับการประหยัดพลังงาน ส่วนมาตรการช่วยเหลือจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐ” นายอรรถพล กล่าว

Advertisment

- Advertisment -.