จับตาค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.65 พุ่งแตะ 4 บาทต่อหน่วย

- Advertisment-

จับตาค่าไฟพุ่งแตะ 4 บาทต่อหน่วย จากกรณี​รัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ต้นทุนทั้งราคาน้ำมันและLNG พุ่งสูง โดยแหล่งข่าวในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ระบุ ค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 จะต้องปรับขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 16 สตางค์ต่อหน่วย ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.)​ อ้างถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ​อุตสาหกรรม เรียกร้องให้รัฐตรึงค่าไฟฟ้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้าในอนาคต

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าจากกรณีราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการที่รัสเซียเปิดศึกบุกยูเครนว่า
จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่าค่าเอฟที (Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ที่เดิมจะต้องปรับขึ้นอีก 16 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้การจะปรับขึ้นอีกมากน้อยเพียงใดนั้น จะต้องดูว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะแบกรับภาระได้อีกแค่ไหน หลังจากที่ช่วยแบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงค่าก๊าซฯ แทนผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 ไปก่อนหน้านี้เป็นการชั่วคราวแล้วประมาณ 36,000 ล้านบาท

- Advertisment -

สำหรับกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องให้รัฐตรึงค่าไฟฟ้าให้ประชาชน โดยอ้างถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม นั้น ทาง กกพ.ยอมรับว่าปัจจุบัน ไม่มีเงินบริหารค่าไฟฟ้าที่จะนำมาลดค่าไฟฟ้าได้แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ใช้เงินลดค่าไฟฟ้าบรรเทาผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปหมดแล้ว ดังนั้นแนวทางที่ภาครัฐพอจะสามารถนำมาใช้ลดค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ ได้แก่ 1.นำเงินกู้ของรัฐบาลมาลดค่าไฟฟ้าโดยตรง 2.ให้หน่วยงานต้นสังกัดของ 3 การไฟฟ้า(กฟผ. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) อนุญาตให้ 3 การไฟฟ้ากู้เงินสำหรับพยุงราคาค่าไฟฟ้าโดยตรง คล้ายกับการตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และ 3.ให้ กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าไปก่อน และเมื่อราคาก๊าซฯและน้ำมันลดลงแล้ว จะทยอยใช้คืน ด้วยวิธีการไม่ลดราคาค่าไฟฟ้าแม้ราคาเชื้อเพลิงจะลดก็ตาม เพื่อนำเงินคืน กฟผ. แต่ทั้งนี้ต้องดูผลกระทบต่อฐานะการเงินของ กฟผ.ด้วย

สำหรับในส่วนของ กกพ. ที่ผ่านมาได้ดำเนินการลดผลกระทบจากราคาก๊าซฯและน้ำมันแพงตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยให้โรงไฟฟ้าราชบุรี,โรงไฟฟ้าของ GPSC , โรงไฟฟ้าวังน้อยและโรงไฟฟ้าบางปะกง เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซฯ มาใช้น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเตาแทนในการผลิตไฟฟ้า ส่วนโรงไฟฟ้าภาคใต้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร เนื่องจากโรงไฟฟ้าภาคใต้ใช้ก๊าซฯจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย(JDA) ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซฯโลกที่พุ่งสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -​ENC )​ รายงานว่า ก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลต่อราคาก๊าซในอ่าวไทยให้ปรับสูงขึ้นตาม ย้อนหลังประมาณ 6 -​12 เดือน ส่วนราคาSpot LNG จะขึ้นอยู่กับปริมาณการนำเข้า โดย ปตท.มีสัญญานำเข้าLNGระยะยาวที่ยังมีราคาถูก อยู่เพียง ประมาณ 5.2 ล้านตันต่อปีเท่านั้น ในขณะที่ ปีนี้ จำเป็นจะต้องมีการนำเข้าLNGเข้ามาเพิ่มอีก 4.5 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณก๊าซจากอ่าวไทย ลดลง จากการที่แหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซขนาดใหญ่ของไทย จะผลิตได้ไม่ต่อเนื่อง เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน เม.ย.65 และเริ่มสัญญาใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต โดยโอเปอเรเตอร์รายใหม่ คือ PTTEP​ ED​

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ราคาSpot LNG​ ตลาดJKM ส่งมอบเดือน เม.ย.-พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 48 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งกระโดดสูงขึ้นมาจากเดิมที่อยู่ในระดับ 24-25 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ก่อนวิกฤตรัสเซียบุกยูเครน

ส่วนค่าเอฟที งวดปัจจุบันเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 อยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากปล่อยราคาสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะทะลุเกิน 4 บาทต่อหน่วย

ขณะที่เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ เปิดเผยถึงผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 15 ในเดือน มี.ค. 2565 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซ กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน” พบว่า กรณีภาครัฐจะมีการพิจารณาปรับอัตราค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ ขึ้นต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้ จนทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นจะต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาคงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะให้ภาคอุตสาหกรรมเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน และหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

Advertisment

- Advertisment -.