กองทุนน้ำมันฯ เริ่มกู้อีกรอบ 5 พันล้าน ตั้งเป้ากู้ครบ 2 หมื่นล้านภายใน เม.ย. 2566 ในขณะที่กองทุนฯติดลบ 8.9 หมื่นล้านบาท

- Advertisment-

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มกู้เงินอีกครั้ง ประเดิม 5 พันล้านบาท ตั้งเป้ากู้ครบ 2 หมื่นล้านบาทภายในเดือน เม.ย. 2566 นี้ ระบุแม้กองทุนฯ เริ่มติดลบต่ำกว่าหลักแสนล้าน แต่ยังมีหนี้ต้องชำระผู้ค้ามาตรา 7 อีก 7 หมื่นล้านบาท และใช้เสริมสภาพคล่องชดเชยราคา LPG ต่อไป ชี้ล่าสุดกองทุนฯ ติดลบ 89,800 ล้านบาท แต่ยังมีเงินไหลเข้า 345 ล้านบาทต่อวัน จากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทุกชนิดตั้งแต่ 0.01-8.58 บาทต่อลิตร และผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ 4.19 บาทต่อลิตร

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้เริ่มกระบวนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้ทำเรื่องกู้เงินกับสถาบันการเงินไป 5,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการกู้เงินในเดือน เม.ย. 2566 ทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะทยอยกู้เงินจนครบตามเป้าหมายดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีสถานะติดลบ จากการนำเงินไปพยุงราคาดีเซลตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันสถานการณ์กองทุนฯ จะเริ่มดีขึ้นโดยติดลบน้อยกว่า 1 แสนล้านบาท แต่กองทุนฯ ก็ยังต้องชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และนำเงินไปเสริมสภาพคล่องการชำระหนี้ที่ต้องจ่ายผู้ค้ามาตรา 7 รวม 70,000 ล้านบาท (ข้อมูลจนถึง ณ วันที่ 9 เม.ย. 2566  )  

- Advertisment -

โดยล่าสุดสถานะกองทุนฯ ณ วันที่ 9 เม.ย. 2566 กองทุนฯ ติดลบรวมทั้งสิ้น 89,800 ล้านบาท โดยเป็นการติดลบของบัญชีน้ำมัน 42,921 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 46,879 ล้านบาท แต่เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับลดต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนฯ หันกลับมาเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลกลับคืนกองทุนฯ มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าถึงวันละ 345 ล้านบาท ส่วนเงินไหลออกจากการชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 26.36 ล้านบาทต่อวัน

สำหรับภาพรวมการกู้เงินนั้น ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้กู้เงินได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท และกู้ภายในวันที่ 5 ต.ค. 2566 นี้เท่านั้น ซึ่งการที่กองทุนฯ จะเริ่มกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ จะต้องรอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ทยอยบรรจุเป็นกรอบวงเงินหนี้สาธารณะก่อน

ที่ผ่านมา สบน.ได้บรรจุวงเงินหนี้สาธารณะไป 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรอบแรก 30,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฯ ได้นำไปชำระหนี้ผู้ค้ามาตรา 7 หมดแล้ว และรอบที่สองอีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินก้อนนี้กำลังอยู่ระหว่างทยอยกู้กับสถาบันการเงิน ที่ตั้งเป้าหมายจะกู้ 20,000 ล้านบาทในเดือน เม.ย. 2566 ก่อน อย่างไรก็ตามกองทุนฯ ยังเหลือวงเงินอีก 4 หมื่นล้านบาท ก็จะครบ 1.5 แสนล้านบาทตามที่ ครม. ให้กรอบวงเงินไว้ ซึ่ง กองทุนฯ ยังสามารถขอให้ สบน.บรรจุเป็นหนี้สาธารณะได้อีก ก่อนครบกำหนด 5 ต.ค. 2566 นี้

ส่วนการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลส่งคืนกองทุนฯ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้มีมติลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ ลงเหลือ 4.19 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ 4.41 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียม ถูกเรียกเก็บ 5.69 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันโลกผันผวน สำหรับกลุ่มเบนซินนั้น กบน.ได้เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ น้ำมันเบนซิน เรียกเก็บ 8.58 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เรียกเก็บ 2 บาทต่อลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เรียกเก็บ 0.01 บาทต่อลิตร

สำหรับค่าการตลาด  ซึ่งรายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในวันที่ 11 เม.ย. 2566 พบว่าค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 1.80 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-11 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 2.20 บาทต่อลิตร โดยยังอยู่ในเกณฑ์ค่าการตลาดปกติ ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 ได้มีมติคืนค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันให้กลับมาอยู่อัตราปกติประมาณ 1.80-2 บาทต่อลิตร หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือให้คงค่าการตลาดไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร ในช่วงราคาพลังงานแพง

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 11 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 15.30 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 84.99 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 80.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.54 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 84.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

Advertisment

- Advertisment -.