กฟผ.จับมือกรมโรงงานฯศึกษาตั้งโรงงานต้นแบบกำจัดซากแผงโซลาร์และแบตเตอรี่

- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลงนามความร่วมมือ(MOU) กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ศึกษาการจัดตั้งโรงงานต้นแบบกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่แห่งแรกในประเทศไทย คาดใช้เวลาศึกษา 2 ปี หวังรองรับขยะแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นล็อตแรกในปี 2565 จำนวน 112 ตัน ในขณะที่แนวโน้มในอนาคตจะมีขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ เพิ่มสูงขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ หรือ PDP2018

เพื่อเป็นการรองรับปัญหาขยะแผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าว ในวันนี้(23 ม.ค. 2563) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ.จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)  เพื่อศึกษา “โครงการศึกษาการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ  โดยมี น.ส. จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. และนายกัมปนาท รุ่งเรืองชัยศรี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรอ. เป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์การเรียนรู้กฟผ.สำนักงานกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

- Advertisment -

ความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะ และแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความความเหมาะสมในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศ โดยมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กล่าวว่า ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนด้านข้อมูล ได้แก่ 1) ข้อมูลแนวโน้มซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย 2) ข้อมูลจากการพิจารณาแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม และ 3) ข้อมูลจากการศึกษาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาภายใน 2 ปี นับจากวันนี้ ส่วนผู้ลงทุนสร้างโรงงานดังกล่าวทาง กฟผ.จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ให้ได้ 15,574 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ซึ่งจะทำให้เกิดซากเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประกอบ รวมทั้งซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ โดยได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดการขยะที่เกิดจากเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า  ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอเป็นกิจกรรมหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การจัดการของเสียของกระทรวงอุตสาหกรรม

ปัจจุบันขยะที่เป็นพวกแบตเตอรี่ตะกั่วและแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฮบริด ตั้งแต่ปี 2558-2562 มีจำนวน 1,300 ตัน ได้ใช้วิธีกำจัดโดยการส่งออกไปยังโรงงานรีไซเคิลในประเทศเบลเยียม สิงคโปร์และญี่ปุ่น  แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่อย่างเป็นระบบและครบวงจรในประเทศไทย  ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซลาเซลล์ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี จึงคาดว่าในปี 2565 จะมีซากจากแผงโซลาเซลล์เกิดขึ้น 112 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน ในปี 2600 ซึ่งหากไม่มีการวางแผนที่เหมาะสม จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเป็นปัญหาอุปสรรคต่อแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวภารกิจในส่วนที่ กฟผ. จะรับผิดชอบในการดำเนินงาน ได้แก่ 1) ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้กับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย 2) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย ควบคู่กับการพิจารณาตามแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรมตามข้อมูลของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ 3) ศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่อาจสามารถนำมาบูรณาการกับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย

Advertisment

- Advertisment -.