กกพ.เตรียมออกระเบียบบังคับโรงไฟฟ้าชุมชนจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนตามมาตรฐานใหม่

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมออกระเบียบบังคับโรงไฟฟ้าใหม่ที่ไม่อยู่ในข่ายทำ EIA หรือ EHIA ต้องจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนตามมาตรฐานใหม่ คาดประเดิมโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เป็นกลุ่มแรก รวมถึงโรงไฟฟ้าขยายผลและโรงไฟฟ้าขยะที่รัฐจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในอนาคต

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น “ระเบียบ กกพ.ว่าด้วยเรื่องการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ….” ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค.2564 นี้ ทางเว็บไซต์ กกพ. โดยระเบียบดังกล่าวจะเริ่มใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ที่ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการประมูล รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยายผล 140 เมกะวัตต์ ที่กระทรวงพลังงานเตรียมจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในเร็วๆนี้ด้วย

สำหรับร่างระเบียบดังกล่าวจะมีผลใช้กับทั้งโรงไฟฟ้าประเภทเผาไหม้เชื้อเพลิง ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล,โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ,โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ,โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยและโรงไฟฟ้าถ่านหิน นอกจากนี้ยังใช้กับโรงไฟฟ้าไม่เผาไหม้เชื้อเพลิง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์,โรงไฟฟ้าพลังงานลม,โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

- Advertisment -

โดยผู้ผลิตไฟฟ้าต้องจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่รัศมีต่อไปนี้ 1. โรงไฟฟ้าประเภทเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ให้ครอบคลุมพื้นที่รัศมีอย่างน้อย 5 กิโลเมตรของเขตพื้นที่ตั้งโครงการ 2.โรงไฟฟ้าประเภทเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ แต่ไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ ให้ครอบคลุมพื้นที่รัศมีอย่างน้อย 3 กิโลเมตร ของพื้นที่ตั้งโครงการ

3.โรงไฟฟ้าประเภทเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ให้ครอบคลุมพื้นที่รัศมีอย่างน้อย 1 กิโลเมตร ของพื้นที่ตั้งโครงการ 4.โรงไฟฟ้าประเภทไม่เผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไป ให้ครอบคลุมพื้นที่รัศมีอย่างน้อย 3 กิโลเมตรจากขอบเขตพื้นที่ตั้งโครงการ และ5.โรงไฟฟ้าประเภทไม่เผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ ให้ครอบคลุมพื้นที่รัศมีอย่างน้อย 1 กิโลเมตรจากขอบเขตพื้นที่ตั้งโครงการ

นายคมกฤช กล่าวว่า ร่างระเบียบดังกล่าวจะไม่ครอบคลุมโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น(IEE), รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ(EHIA)

ทั้งนี้เนื่องจากระเบียบที่ กกพ.จะออกมาดังกล่าว ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้อยู่ในข่ายต้องจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมตามคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ต้องจัดทำประมวลหลักปฏิบัติ(COP) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการทำ EIA แต่ง่ายกว่า ซึ่งที่ผ่านมา กกพ.มีการกำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดเล็กไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ต้องทำ COP โดยให้ผู้ประกอบการดำเนินการเองตามข้อที่ กกพ.กำหนดไว้ เพื่อประกอบการยื่นเอกสารขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า แต่เนื่องจากผู้ประกอบการจัดทำเองและอาจไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นร่างระเบียบใหม่จึงกำหนดมาตรฐานแบบฟอร์มที่ผู้ประกอบการใช้ดำเนินการในการรับฟังความเห็นประชาชนขึ้นเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตามหากปฏิบัติตามไม่ครบถ้วน จะไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าได้

“เชื่อว่าโรงไฟฟ้าชุมชนฯ และโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้จะต้องปฏิบัติตามร่างระเบียบรับฟังความเห็นใหม่นี้ เพราะ กกพ. กำลังเปิดรับฟังความเห็นร่างฯ ผ่านทางเว็บไซต์ของ กกพ. และจะนำเข้าเสนอ บอร์ด กกพ. พิจารณา จากนั้นจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งน่าจะทันก่อนที่โรงไฟฟ้าชุมชนจะเริ่มก่อสร้างได้ และโรงไฟฟ้าชุมชนน่าจะเป็นโรงไฟฟ้ากลุ่มแรกที่ต้องรับฟังความเห็นประชาชนตามระเบียบใหม่ของ กกพ.นี้ ”

Advertisment

- Advertisment -.