เทรนด์ EV มาแรงไทยออยล์ปรับตัวลดความเสี่ยงธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน หันลุยปิโตรเคมีเข้าซื้อหุ้น CAP ของอินโดฯ

- Advertisment-

ไทยออยล์ ผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ ปรับตัวรับการมาของยานยนต์ไฟฟ้า ( EV ) ก้าวสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและพลังงานมากขึ้น ระบุล่าสุดซื้อหุ้นบริษัท CAP ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่สุดในอินโดนีเซีย จะส่งผลให้ไทยออยล์ก้าวสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างธุรกิจสมบูรณ์ครอบคลุมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยออยล์ ได้เร่งปรับตัวรองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า( EV ) ที่จะเข้ามาแทนที่รถยนต์ใช้น้ำมันมาโดยตลอด โดยได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว ด้วยการปรับสัดส่วนกำไรจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันไปยังธุรกิจด้านพลังงานและเคมีคอลมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยออยล์มีกำไรจากปิโตรเลียม 70-80% แต่ในอนาคตกำไรจากปิโตรเคมีจะใกล้เคียงกับธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น

อย่างไรก็ตามแผนยุทธศาสตร์ของไทยออยล์ได้เร่งปรับตัวทุกเรื่อง โดยมีโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่นไทยออยล์ ให้มีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 270,000 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งยังปรับเปลี่ยนน้ำมันดิบประเภท Heavy Crude Oil ไปเพิ่มมูลค่าด้วยการต่อยอดในธุรกิจปิโตรเคมีด้วย

- Advertisment -

ล่าสุดยังได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (“CAP”) ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ PT TOP Investment Indonesia โดยเข้าถือหุ้น CAP ที่สัดส่วน 15.38% ใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 39,100 ล้านบาท โดยคาดว่ากระบวนการและการดำเนินการต่างๆ ในการเข้าร่วมลงทุนใน CAP จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2564

ทั้งนี้การเข้าซื้อหุ้น CAP ถือเป็นส่วนหนึ่งในการปรับแผนธุรกิจของไทยออลย์เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยออยล์ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการลงทุนก่อสร้างเองที่ต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปี และจะทำให้โครงสร้างธุรกิจของไทยออยล์ มีความสมบูรณ์ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร โดยสายโอเลฟินส์มีข้อได้เปรียบที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ขั้นปลายต่างๆ ที่หลากหลายกว่าสายอะโรเมติกส์

โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ในปริมาณสูง มีแนวโน้มเติบโตดีในอนาคต และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดย CAP เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงงานแยกแนฟทา (Naphtha Cracker) เพียงแห่งเดียวของประเทศ มีกำลังการผลิตเอทิลีน (ethylene) ประมาณ 900,000 เมตริกตันต่อปี และพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตสไตรีนโมโนเมอร์ (SM) และบิวทาไดอีน (BD) โรงงานปิโตรเคมีของ CAP มีกำลังผลิต 4.2 ล้านตันต่อปี และมีแผนขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 ในปี 2565 อีกเท่าตัวรวมเป็น 8 ล้านตันต่อปี ใน ค.ศ.2026 (พ.ศ.2569)

นายวิรัตน์ กล่าวว่า การเข้าลงทุนครั้งนี้ของไทยออยล์ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ทั้งการได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท CAP และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CAP ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ การลงทุนนี้ยังเป็นการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่าง ไทยออยล์ กับ CAP โดยไทยออยล์ได้เข้าทำสัญญาส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้กับ CAP นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำสัญญาเพื่อจำหน่ายพอลิเมอร์เรซิน (Polymer Resin) และผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวอื่นๆ ของ CAP อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC )​ รายงานด้วยประเด็นที่ไทยออยล์ซื้อหุ้นใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือCAP นั้น ทาง บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยออยล์​ ได้มีหนังสือแจ้งถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2564 ถึงมติบอร์ด ปตท. ในการประชุมครั้งที่5/2564 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 และการประชุมพิเศษครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ในการสนับสนุน ไทยออยล์ เข้าซื้อหุ้นของ CAP และแผนการจัดหาเงินทุนสําหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวของไทยออยล์ โดยมองว่าการลงทุนครั้งนี้ของไทยออยล์จะช่วยต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ของกลุ่ม ปตท.

Advertisment

- Advertisment -.