ชง กบง.ขยายระยะเวลาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้โครงการ SPP Hybrid Firm 14 ราย

- Advertisment-

โครงการ SPP Hybrid Firm 17 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ ที่ชนะประมูลตั้งแต่ ส.ค. 2560 มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA ) ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด (วันที่ 13 ธ.ค. 2562 ) เพียงแค่ 3 ราย  โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ให้ขยายกรอบระยะเวลาลงนาม PPA ให้กับอีก 14 รายที่เหลือ ระบุหากผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD)ไม่ทันกำหนด 31 ธ.ค.2564 จะต้องถูกยกเลิกโครงการพร้อมจ่ายค่าปรับตามข้อกำหนดของ กกพ.

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้ขยายระยะเวลาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ให้ผู้ประกอบการที่ชนะประมูลโครงการ SPP Hybrid Firm ตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค. 2560 ที่ผ่านมา  เนื่องจากพบว่า มีเพียง 3 ราย เท่านั้นที่สามารถลงนาม PPA ได้ตามกรอบระยะเวลาที่ทาง กกพ.กำหนด คือภายในวันที่ 13 ธ.ค. 2562 ในขณะที่อีก 14 รายที่เหลือ ไม่สามารถลงนามได้ โดยยังอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้ข้อเสนอของ กกพ. ต่อ กบง.เห็นควรให้มีการขยายเวลาลงนาม PPA ออกไปได้อีกประมาณปีครึ่ง หรือ จนถึงประมาณปลายปี 2564 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่จัดทำ EIA เสร็จแล้ว แต่ลงนามPPA ไม่ทันกรอบระยะเวลาที่กำหนดคือภายใน 13 ธ.ค.2562

- Advertisment -

2.กลุ่มที่จัดทำ EIA ใกล้เสร็จ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดในโครงการดังกล่าว และมีโอกาสจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้คือภายใน 31 ธ.ค. 2564  และ 3. กลุ่มที่ยังจัดทำ EIA ไม่ผ่าน โดยแต่ละกลุ่มจะขยายเวลาออกไปเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับ กบง.จะพิจารณา

อย่างไรก็ตามหากขยายเวลาให้ลงนาม PPA ได้แล้ว แต่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD)ได้ทันตามกำหนด 31 ธ.ค. 2564 บริษัทผู้ได้สิทธิ์จะต้องถูกยกเลิกสัญญา และมีการปรับตามข้อกำหนดที่ กกพ.ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

สำหรับโครงการ SPP Hybrid Firm นั้น กกพ.ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้ามาตั้งแต่เดือนส.ค. 2560 มีผู้ชนะการประมูลจำนวน 17 โครงการ ปริมาณเสนอขายรวมทั้งสิ้น 300 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ ราคาที่เสนอขายไฟฟ้าในการประมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2564

โดยผู้ชนะประมูลแบ่งตามรายภาค ได้แก่ ภาคใต้ 5 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 100.85 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ 5 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 84.13เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 4 โครงการปริมาณเสนอขาย 71.02 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ และ ภาคกลาง 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 12 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า โครงการ SPP Hybrid Firm ที่ไม่สามารถลงนาม PPA ได้ทันตามกำหนด ส่วนหนึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการเปลี่ยนรูปแบบโครงการ เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win เนื่องจาก มีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบ และได้ค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าเดิมมาก   แม้ว่าคณะกรรมการบริหารรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน จะมีการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ว่า จะต้องไม่เป็นโครงการที่ชนะประมูล  SPP Hybrid Firm แล้วก็ตาม

Advertisment

- Advertisment -.