น่าห่วง! ก๊าซเอราวัณเสี่ยงผลิตไม่ต่อเนื่อง ประเทศเสียหายมาก

2236
- Advertisment-

การที่​ ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ​ ปตท.สผ.​ และเป็นคู่สัญญากับรัฐ​ ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต​ ในแหล่งเอราวัณ​ (G1/61)​ ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มเติมได้ตามแผน​ เพราะเจ้าของสัมปทานในปัจจุบันคือ​ กลุ่มเชฟรอน​ ยังไม่อนุญาต​ ​เป็นการส่งสัญญาณ​ให้เห็นว่า​ การผลิตก๊าซธรรมชาติช่วงรอยต่อระหว่างเจ้าเก่ากับเจ้าใหม่หลังวันที่​ 23​ เม.ย.2565​ นั้นมีแนวโน้มสูงมาก ว่าจะไม่ต่อเนื่อง

การผลิตที่ไม่ต่อเนื่องนั้น​ คนในวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม​ ประเมินกันมาว่า​ จะทำให้ก๊าซที่อยู่ก้นหลุมปริมาณรวมๆ กันประมาณ​ 300​ ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน​ ซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์เพิ่มแรงดันช่วยดันขึ้นมาใช้นั้น จะฝ่อหายไปทั้งหมด​ และไม่สามารถที่จะนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับแหล่ง​ Rokan​ ของอินโดนีเซีย

ความสำคัญของก๊าซ​ 300​ ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน ก็เปรียบเหมือนกระเป๋าเงินของรัฐ ที่ไม่ต้องไปหยิบยืม​ กู้ใครเขามา​ ซึ่งถ้ารักษาไว้ได้ก็จะเป็นทุนเสบียงให้รัฐไปได้อีกหลายปี​ ​ ยิ่งถูกนำเข้าโรงแยกก๊าซไปสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี​เพราะเป็นก๊าซคุณภาพดีที่เรียกว่า​ Wet Gas​ ก็จะยิ่งสร้างประโยชน์ให้ระบบเศรษฐกิจ​ของประเทศแบบทวีคูณ คิดประเมินดูแล้วมากกว่าแสนล้านบาท​

- Advertisment -

แต่ถ้าปล่อยให้หายไปเลยจากหลุมเหมือนเอาเข็มจิ้มลูกโป่งอัดก๊าซ​จนแตก เพราะขาดช่วงการผลิต​ในวันสิ้นสัญญาสัมปทาน นอกจากรัฐจะไม่ได้ประโยชน์​จากค่าภาคหลวง การแบ่งปันผลประโยชน์ตามระบบพีเอสซี และการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นผลดีต่อการลงทุน การจ้างงาน และการมีเม็ดเงินไปหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจของประเทศ แล้ว ยังต้องเสียเงินตราต่างประเทศไปนำเข้า ​LNG​ จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาเฉลี่ยแพงกว่าก๊าซจากแหล่งเอราวัณ เข้ามาใช้ทดแทน​ เรียกว่าเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง​ และคนที่จะต้องมารับภาระก็ไม่ใช่ใคร​ที่ไหน​ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้านั่นเอง​

ลองคิดคำนวนดูว่า​ ก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่​ ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) เสนอราคาขายตอนแข่งประมูล​ นั้นอยู่ที่​ 116​ บาทต่อล้านบีทียู​ แต่ LNG นำเข้านั้นราคาผันผวนมาก​ เคยต่ำสุดที่ประมาณ​ 50-60​ บาทต่อล้านบีทียู​ ไปจนถึง​ 500​ กว่าบาทต่อล้านบีทียู​ หากพึ่งพาการใช้ LNG มากๆ ​ประชาชนจะรับภาระจ่ายค่าไฟแพงไหวหรือ​

รัฐบาล​พลเอกประยุทธ์​จึงไม่สามารถที่จะเพิกเฉยต่อปัญหาแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซไม่ต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่จะเกิดในคืนวันที่​ 23​ เม.ย. 2565​ ได้

เพราะการโดดเดี่ยวกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ​ ให้เผชิญหน้า​กับยักษ์ใหญ่เชฟรอน​ ของสหรัฐอเมริกา​ ตามลำพัง​ บนเดิมพันผลประโยชน์แสนล้านของประเทศ ไม่ใช่แนวทางจัดการ​ปัญหาที่ดีที่สุด แต่นายกรัฐมนตรีจะต้องลงมาช่วยเสริมแรง​ โดยมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีพลังงานเป็นหัวหน้าทีมในการตั้งโต๊ะเจรจากับผู้บริหารระดับสูงของ​ เชฟรอน​ สหรัฐอเมริกา​ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด​ให้กับทุกฝ่าย​ให้ได้ข้อยุติภายในกลางปีนี้ ก่อนที่ความเสียหายจะขยายวงกว้าง ​

ทีมข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ ( Energy​ News​ Center-ENC​ )​ รายงาน

ข้อมูลประกอบบทความ

แหล่งปิโตรเลียม​ ​ในกลุ่มเอราวัณ นั้น ประกอบด้วยแหล่ง ต่างๆ ใน block 10, 10A, 11, 11A และ 12 อาทิ เอราวัณ กะพง ปลาทอง สตูล ปะการัง ปลาแดง ปลาหมึก ตราด ยะลา จักรวาล สุราษฎร์ ดารา ฟูนัน​ โดยจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่​ 23 เมษายน​ 2565​ หรืออีกเพียงปีเศษเท่านั้น

แหล่งเอราวัณ​ เริ่มผลิตก๊าซครั้งแรกภายใต้สัญญา​สัมปทานในปี​ 2524 ถือเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ในอ่าวไทย ที่ผลิตก๊าซตามสัญญาได้ประมาณ 1,280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ

หลังจากที่ กลุ่ม​ เชฟรอนแพ้ประมูลในการเข้าบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ​ ( G1/61) หลังสิ้นสุดอายุสัมปทาน​ ก็ลดการลงทุนเจาะหลุมผลิตใหม่ๆ​ เพื่อรักษาระดับการผลิตเอาไว้เหมือนที่ผ่านมา​ ทำให้ปริมาณ​การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณลดลงเป็นลำดับเหลือ​ ประมาณ​ 1,000​ ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันในปัจจุบัน​ และวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคาดว่ากำลังการผลิตจะลดลงเหลือ​ ประมาณ​ 800​ ล้าน ล.บ.ฟุตต่อวัน​

​การที่ PTTEP ED​ ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิต​ในการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซได้ตามแผน​ จะทำให้การผลิตก๊าซหลังวันที่​ 23​ เม.ย.65​ ลดเหลือเพียงประมาณ​ 500​ ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน​ ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไข​สัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ทำไว้กับรัฐ​ ที่จะต้องผลิตก๊าซให้ได้ไม่น้อยกว่า​ 800 ​ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลา​ 10​ ปี​ นับตั้งแต่วันเริ่มสัญญา​ ซึ่งตามสัญญาได้มีการกำหนดบทปรับตามกฏหมายกับผู้รับสัญญาคือ​ PTTEP ED

-​ ก๊าซธรรมชาติ 140​ ล้าน ลบ. ฟุตต่อวัน​ เทียบเท่ากับ​ LNG​ 1​ ล้านตัน​ต่อปี​ ดังนั้นก๊าซที่คาดว่าจะหายไปจากระบบ​ 300​ ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน​ จะเทียบเท่ากับการนำเข้า ​LNG ​เพิ่มเข้ามาอีก 2 ล้านตันต่อปี​ ซึ่งการนำเข้า ​LNG​ เป็นการเสียเงินตราต่างประเทศออกไปทางเดียว โดยที่รัฐไม่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต​ เหมือนกรณีการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นใช้ในประเทศ

– ข่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มี.ค.64 ระบุ พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 เพื่อเข้าดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิต ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเตรียมการผลิต ผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณไม่ยินยอมให้เข้าดำเนินการ

Advertisment