ปตท. พร้อมช่วยแบกรับภาระต้นทุนก๊าชไว้ก่อน​ วงเงิน​ 8-9​ ​พันล้านบาท ​เพื่อให้ค่าไฟปรับลดลงเหลือ​ ​3.99​ บาทต่อหน่วย

- Advertisment-

ปตท.พร้อมช่วยแบกรับภาระต้นทุนค่าก๊าซแทน กฟผ. เพื่อให้สามารถปรับลดค่าไฟฟ้าเอฟทีเหลือ​ 3.99​ บาทต่อหน่วยได้ตามมติ ​ครม. เมื่อวันที่​ 18​ ก.ย.​ 2566​ โดยประเมินเป็นวงเงินประมาณ​ 8-9​ พันล้านบาท

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า​ การรับภาระต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติของ​ ปตท. คิดเป็นเงินประมาณ ​8,000-9,000 ล้านบาท คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ปตท.อย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นการชะลอการจ่ายค่าเชื้อเพลิงให้กับ​ กฟผ.​ ไว้ก่อน ซึ่ง ปตท. จะได้รับคืนในการคิดค่าเอฟทีงวดถัดไป​โดยที่ไม่มีการคิดดอกเบี้ยกับ กฟผ.

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว​พลังงาน​ (Energy​ News​Center-ENC​)​ รายงานว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จากอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงมาอยู่ที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง

- Advertisment -

โดยในการประชุมระหว่าง​ กกพ. กับ กฟผ. และ ปตท. เมื่อวันที่​ 20​ ก.ย. 2566​ มีแนวทางให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู และในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1.35 แสนล้านบาทและอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ​ 23,428 ล้านบาท​ ดังนั้นการดำเนินการตามมติ ครม. จึงต้องยกเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าวไว้ก่อน

ในขณะที่วันที่​ 5​ ต.ค.2566​ กกพ.มีมติ​ปรับลดค่าเอฟทีลงเหลือ​ 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยใช้มาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550​ และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการแก้ไขมติเดิมที่เคยใช้มาตรา​ 65​ ในการคิดคำนวณค่าเอฟที​ ให้สะท้อนต้นทุนจริง​ เพื่อใช้มติ ครม.ในการบังคับให้​ ทั้ง​ กฟผ.​ กฟน.​ กฟภ.​และ ปตท.​ที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจต้องปฏิบัติตามมตินี้

Advertisment

- Advertisment -.