ปตท.ร่วมส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

- Advertisment-

มูลนิธิชัยพัฒนา-สำนักงาน กปร.-กรมพัฒนาที่ดิน- ปตท. ร่วมจัดพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 11 หวังขยายผลการปลูกและใช้ประโยชน์หญ้าแฝกอย่างแพร่หลายเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างยั่งยืน

วันนี้ (18 มิถุนายน 2562) ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดฯ ให้เกียรติเป็นประธาน และมอบรางวัลใน พิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ครั้งที่ 11 (ประจำปี 2561 – 2562) ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อยกย่อง เชิดชู รวมทั้งเผยแพร่ผลงานการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำตลอดจนเป็นการส่งเสริมและขยายผลการปลูกและใช้ประโยชน์หญ้าแฝกอย่างแพร่หลายเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างยั่งยืน

นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า โครงการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2549 โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะกรรมการระดับประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายคนรักษ์แฝก 6 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับสมาชิกของเครือข่ายคนรักษ์แฝก การรณรงค์ส่งเสริมการขยายผลการปลูกหญ้าแฝก  การพัฒนาการบริหารการจัดการเครือข่าย  การศึกษาทดลองและจัดทำฐานข้อมูล  การพัฒนาฝีมือหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก และการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย หรือภาคประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรให้หันมาสนใจประโยชน์จากหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ยังเกิดกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ดินและน้ำโดยใช้หญ้าแฝก รวมตัวกันเป็นเครือข่ายคนรักษ์แฝก ปัจจุบันมีจำนวน 9,761 คน และมีศูนย์เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกอีก 48 แห่งทั่วประเทศ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากภาคประชาชน ไปสู่ภาคประชาชนได้อย่างกว้างขวาง

- Advertisment -

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ปตท. ได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อร่วมสืบสานงานตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศชาติ และเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการนำความรู้ต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และต่อยอดการพัฒนาตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

การจัดการประกวดฯ ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ.2561-2562ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด และรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชยได้รับโล่จากองค์กรร่วมจัดพร้อมรับเกียรติบัตร โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานคณะกรรมการตัดสินโครงการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

การประกวดในครั้งนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 103 ผลงาน และมีผู้ผ่านการพิจารณารวม 32 ผลงาน แบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภทผลงาน ได้แก่ ประเภทส่งเสริมการปลูกและขยายผล  มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศโล่พระราชทาน 9 ผลงาน รางวัลโล่องค์กรร่วมจัด 12 ผลงาน ประเภทส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก ซึ่งแบ่งออกเป็นด้านความคิดสร้างสรรค์และด้านออกแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ผลิตภัณฑ์ มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศโล่พระราชทาน 2 ผลงาน และรางวัลโล่องค์กรร่วมจัด 9 ผลงาน นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ได้รับรางวัลโล่พระราชทานรางวัลเกียรติยศหญ้าแฝกแห่งชาติประจำปี 2559-2560 รับเกียรติบัตรเกียรติยศหญ้าแฝกแห่งชาติ ในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้ 1 ท่าน

“โครงการดังกล่าวนับเป็นกระบวนการสร้างความร่วมมือที่สำคัญในการเชื่อมโยงการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐสู่ภาคประชาชนอย่างแท้จริงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จสู่สาธารณชนให้ได้ศึกษาเรียนรู้ ขยายผลการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ตลอดจนให้การดำเนินงานการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริดำรงอยู่คู่กับแผ่นดินไทยสืบต่อไป” นายชาญศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม

Advertisment

- Advertisment -.