พลังงาน เปิดราคาไฟฟ้าสีเขียว แพงกว่าค่าไฟฟ้าปกติ กกพ. เตรียมรับฟังความเห็น ม.ค. 2567

- Advertisment-

พลังงาน ประกาศเตรียมเปิดขายไฟฟ้าสีเขียวให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ช่วง ก.พ. 2567 ด้านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดรับฟังความเห็นอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว ม.ค. 2567 แบ่งเป็น อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวทั่วไป (ค่าไฟฟ้าปกติ รวมกับค่าบริการส่วนเพิ่ม 0.0594 บาทต่อหน่วย)  และอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าใหม่ ในราคาประมาณ 4.55 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะแพงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าปกติที่เฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย

วันที่ 15 ม.ค. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม,นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมเปิดขายไฟฟ้าสีเขียว

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมเปิดขายไฟฟ้าสีเขียว หรือ ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน โดยตามขั้นตอนจะต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับราคาค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (UGT) ภายในเดือน ม.ค. 2567 นี้ จากนั้นจะเริ่มเปิดขายไฟฟ้าพร้อมให้ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ในเดือน ก.พ. 2567 เป็นต้นไป

- Advertisment -

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดรับฟังความเห็นอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวต่อประชาชนในเดือน ม.ค. 2567 โดยจะแบ่งอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1.อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) โดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าดังนี้ คือ ค่าไฟฟ้าปกติที่ประชาชนใช้ (ค่าไฟฟ้าฐาน+ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft) และบวกรวมค่าบริการส่วนเพิ่มอีก 0.0594 บาทต่อหน่วย

ประเภทที่ 2 คือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT 2) หรือผู้ที่ต้องการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่เท่านั้น โดยอัตราค่าไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1.สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ในปี พ.ศ. 2568-2570 ในอัตรา 4.56 บาทต่อหน่วย และกลุ่มที่ 2 สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ COD ระหว่างปี 2571-2573 ในอัตรา 4.55 บาทต่อหน่วย

สำหรับการซื้อไฟฟ้าสีเขียวครั้งนี้ จะเปิดใช้เฉพาะกับลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น โดยใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) จะแบ่งเป็น กรณีใบรับรองจากการซื้อไฟฟ้าของ UGT 1 จะเป็นใบรับรองแบบปีต่อปี ที่จะออกโดยการไฟฟ้าแต่ละแห่งที่ผู้ซื้อติดต่อซื้อไฟฟ้าไว้ ส่วน UGT2 จะเป็นใบรับรองระยะยาว เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งหมายถึงผู้ซื้อจะใช้ราคาเดียวตลอด 10 ปี  

สมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ

​“การเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573  ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงา

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อยู่ที่สัดส่วน 25% และตามข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ประเทศไทยเข้าร่วมนั้น ในส่วนของภาคพลังงาน มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 250 ล้านตัน จำนวนนี้คิดเป็นภาคไฟฟ้าถึง 100 ล้านตัน ซึ่งจะต้องลดลงให้เหลือ 75-76 ล้านตัน ภายในปี 2573 โดยกระทรวงพลังงาน ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงมุ่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดถึง 5,000 เมกะวัตต์ ในเฟส 1 และจะเปิดรับซื้อในเฟสที่ 2 อีกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแตะ 50% ภายในปี 2580 และในจำนวนนี้ จะเป็นเชื้อเพลิงโซลาร์ฯ มากกว่า 20,000 เมกะวัตต์ รวมถึงเรื่องของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย ฉะนั้น ในอนาคตปี 2593 คาดว่าประเทศไทย จะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 70% โดยรายละเอียดการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมีความชัดเจนอยู่ใน แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018 Rev.1) ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือน ก.พ. 2567 นี้

Advertisment

- Advertisment -.