COVID-19 ไม่กระเทือนธุรกิจกัลฟ์ฯ มั่นใจรัฐมีมาตรการเข้มข้นนำประเทศผ่านพ้นวิกฤตได้

- Advertisment-

ซีอีโอกัลฟ์ฯ ชี้ COVID-19 กระทบธุรกิจบริษัทไม่มาก เพราะโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว โดยจะไม่มีการทบทวนแผนธุรกิจ ในขณะที่ ผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศอาจจะหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม จะแบกรับภาระขาดทุนได้แค่ 1-2 เดือน จากนั้นอาจเกิดการปลดพนักงาน แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเข้มข้น ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตCOVID-19 ไปได้

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19  ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของกัลฟ์ฯ มากนักเพราะโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว แต่อาจมีผลกับงานที่ต้องมีการเดินทาง ซึ่งก็ได้เตรียมมาตรการรองรับแล้ว ดังนั้นขณะนี้ บริษัทยังไม่มีการทบทวนแผนลงทุนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ภาพรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไม่ได้ปรับลดลง เนื่องจากการที่คนอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของCOVID-19 ก็ยังต้องใช้ไฟฟ้า

- Advertisment -

ในขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 ที่บริษัทเข้าไปลงทุน ยังเดินหน้าตามแผน โดยจะเข้าไปเจรจากับทางภาครัฐต่อว่าจะต้องปรับแผนหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าโครงการคงไม่เลื่อนออกไป ส่วนโครงการลงทุนในต่างประเทศ  ในแต่ละประเทศยังเดินหน้าก่อสร้างตามแผน เนื่องจากโครงการลงทุนของบริษัทเป็นโครงการลงทุนระยะยาว

อย่างไรก็ตามในภาพรวมของประเทศ  มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ จะมีผลกระทบสูงยิ่งว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากในยุคนั้นกระทบต่อบริษัทใหญ่ แต่ตอนนี้กระทบลงไปถึงผู้ประกอบการรายเล็ก และอีกไม่กี่เดือนก็เข้าสู่ภาวะที่ต้องเจอกับปัญหาภัยแล้ง

นอกจากนี้ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจโรงแรมก็ยังน่ากังวลมากเพราะได้รับผลกระทบจนเริ่มขาดสภาพคล่อง และน่าจะแบกรับการขาดทุนได้เพียง 1-2 เดือน แต่หลังจากนั้นหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป สุดท้ายก็อาจเกิดการปลดพนักงาน รวมถึงจะกระทบไปยังลูกจ้างรายวันด้วย

นายสารัชถ์ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ที่ช่วยให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้  อาทิ การออกพันธบัตรการันตีเงินเดือนคนตกงาน ซึ่งเงินในระบบยังมีจำนวนมาก แต่ต้องมีมาตรการการดูดซับเพื่อดึงมาหมุนเวียนในระบบ

“ภาครัฐต้องเตรียมงานให้ดี อัดยาแรง เพราะจากนี้ไปผลกระทบจะเห็นในวงกว้างจากภาคท่องเที่ยว ภาคขนส่ง SME ลงไปจนถึงเกษตรกร แบงก์จะไม่กล้าปล่อยกู้หนี้ต่างๆ จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ดั้งนั้นภาครัฐต้องดูดสภาพคล่องมาใช้ โดยออกพันธบัตรมาการันตีเงินกู้ที่ขาดสภาพคล่อง การันตีเงินเดือนผู้ตกงานครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงการควรพิจารณาลดภาษี ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม” นายสารัชถ์ กล่าว

Advertisment

- Advertisment -.