ปิโตรนาส ชวดดีลแสนล้าน หลัง กพช.สั่งยกเลิกการจัดหาLNG 1.5ล้านตันต่อปีของ กฟผ.

- Advertisment-

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2562 เห็นชอบให้ยกเลิกการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งมีผลทำให้ การประมูลนำเข้าLNG ในสัญญาระยะยาว8ปี ของ กฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 1.5ล้านตันต่อปี ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้และ ได้ผู้ชนะคือ บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า1แสนล้านบาท ถูกยกเลิกไปด้วย

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน  เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16ธ.ค.2562 ว่า  ที่ประชุมเห็นชอบให้ยกเลิกมติ กพช. เมื่อ 31 ก.ค. 2560 ในส่วนที่จะให้ กฟผ. เป็น Shipper รายใหม่ นำเข้า  LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี  แต่เห็นชอบให้ กฟผ. เตรียมความพร้อมทำหน้าที่เป็น Shipper รายใหม่ที่นำเข้า LNG ในรูปแบบ Spot ไม่เกิน 200,000 ตัน ตามมติ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อ 21 ต.ค. 2562  พร้อมทั้งเห็นชอบโครงสร้างราคา LNG แบบ Spot ของ กฟผ.ที่ 5.32 USD/MMBTU โดยลำเรือแรกจะส่งมอบวันที่ 28 ธันวาคม 2562 นี้และล๊อตสองส่งมอบเดือนเมษายน 2563  เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนระยะที่ 1

นายกุลิศ กล่าวว่า หลังจากการส่งมอบLNG แบบspot เรียบร้อยทั้ง2ล๊อตแล้ว กระทรวงพลังงานจะประเมินว่ามีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างไร โดยหากการนำเข้าของกฟผ. ช่วยให้ค่าไฟฟ้าถูกลง และไม่ส่งผลให้เกิดภาระTake or Pay ก็จะมีการพิจารณาว่า ควรจะให้ กฟผ.นำเข้าแบบspot ต่อไปหรือเป็นแบบสัญญาระยะยาว  ในปริมาณที่เหมาะสม

- Advertisment -

นายกุลิศ กล่าวถึงการประมูลLNG ของกฟผ.ที่เป็นสัญญาระยะยาว8ปี ซึ่งได้บริษัทปิโตรนาส แอลเอ็นจี จากมาเลเซีย เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ที่ 7.32 USD/MMBTU  ว่า  เมื่อ กพช.มีการยกเลิก มติ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 ที่ให้ กฟผ. นำเข้าLNG ในปริมาณ ไม่เกิน 1.5ล้านตันต่อปี ไปแล้ว  ก็ถือว่า การประมูลของ กฟผ.ที่ดำเนินการตามมติดังกล่าว เป็นอันถูกยกเลิกไปด้วย    ทั้งนี้ กฟผ.จะต้องไปดูข้อกฏหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเจรจากับทาง ปิโตรนาส  แอลเอ็นจี  ว่าสามารถจะยกเลิกการประมูล โดยไม่ให้มีความเสียหายและผลกระทบ เกิดขึ้นกับกฟผ. ได้หรือไม่ อย่างไร

สำหรับเหตุผล การยกเลิกมติ กพช.เมื่อ 31 ก.ค. 2560 ที่ให้ กฟผ. เป็น Shipper รายใหม่ นำเข้า  LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี นั้น เนื่องจากสถานการณ์ความจำเป็นในการจัดหา LNG ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยความต้องการใช้ LNG ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจาก รัฐสามารถจัดการประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ และบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทาน แต่ยังมีปริมาณสำรองก๊าซเหลืออยู่ ได้เป็นผลสำเร็จ และได้ผู้ชนะการประมูลที่ยังเป็นบริษัทของไทยคือ ปตท.สผ.  ทำให้มั่นใจว่าจะมีปริมาณก๊าซจากอ่าวไทย  ส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าได้ตามแผน

​ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า การประมูลจัดหาLNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5ล้านตันต่อปีในสัญญาระยะยาว8ปี ของ กฟผ.นั้น อยู่ในช่วงที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีการประเมินมูลค่าว่าหากมีการลงนามในสัญญา จะสูงเกินกว่า 1แสนล้านบาท  จึงเป็นดีลที่ อยู่ในความสนใจของคนในวงการพลังงานมาก

Advertisment

- Advertisment -.