กองทุนน้ำมันฯ ส่อวิกฤติอีกรอบ บัญชีติดลบเพิ่มเป็น 7 หมื่นล้าน เล็งดึงเงินกู้สัญญาล่วงหน้ากว่า 5 หมื่นล้าน ช่วยพยุงดีเซล 30 บาทต่อลิตร

N4027
- Advertisment-

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มประสบปัญหาเงินไหลออกมากขึ้นอีกครั้ง ล่าสุดบัญชีติดลบถึง 70,230 ล้านบาท  ด้านสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ลงนามสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงินล่วงหน้าเสร็จแล้ว 50,333 ล้านบาท หากกองทุนฯ ขาดสภาพคล่องพร้อมเบิกเงินกู้ออกมาใช้ทันที ป้องกันราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ระบุปัจจุบันเงินไหลออกเกือบ 8 พันล้านบาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ใช้พยุงราคาดีเซลเป็นหลัก ขณะที่ราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวระดับสูงกว่า 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ลงนามสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงินจำนวน 50,333 ล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จะยังไม่เบิกเงินออกมาจากสถาบันการเงิน เนื่องจากพบว่าปัจจุบันกองทุนฯ ยังสามารถหมุนเวียนรายรับและรายจ่ายได้ แม้สถานะการเงินกองทุนฯ จะเริ่มกลับมาติดลบสูงขึ้นจากปลายเดือน ก.ย. 2566 ที่ติดลบ 64,419 ล้านบาท ล่าสุดติดลบถึง 70,230 ล้านบาท ดังนั้นหากสภาพคล่องทางการเงินเริ่มสะดุด ทาง สกนช. จะต้องเริ่มทยอยเบิกเงินในสัญญาเงินกู้ออกมาใช้ทันที เพื่อพยุงราคาดีเซลไม่ให้ปรับสูงเกิน 30 บาทต่อลิตร

- Advertisment -

โดยสัญญาเงินกู้ 50,333 ล้านบาท เป็นการทำไว้ล่วงหน้าก่อนที่ พ.ร.บ.ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้กับกองทุนฯ จะสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ดังนั้นแม้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะสิ้นสุดลง แต่เมื่อมีสัญญาการกู้เงินไว้แล้ว ทาง สกนช. ก็สามารถทำเรื่องเบิกเงินกู้ออกมาใช้ได้เมื่อมีความจำเป็น

ทั้งนี้วงเงิน 50,333 ล้านบาท ถือว่ายังอยู่ในจำนวนเงินกู้ภายใต้กรอบ 1.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดย สกนช. ได้ทำเรื่องกู้ไปแล้วรวม 105,333 ล้านบาท แต่เบิกมาใช้จริงอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือเงินกู้ให้เบิกมาใช้ได้อีก 50,333 ล้านบาทดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด พบว่ากองทุนฯ เริ่มกลับมาสู่ปัญหาเงินไหลออกมากขึ้นอีกรอบ นับตั้งแต่เกิดปัญหาการสู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น ประกอบกับภาครัฐประกาศกลับมาตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร แม้ที่ผ่านมาจะสามารถขยับราคาขึ้นไปได้ถึง 32 บาทต่อลิตรแล้วก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวทำให้กองทุนฯ ต้องเข้าไปพยุงราคาดีเซลเพิ่มขึ้นนั่นเอง

โดยล่าสุดกองทุนฯ ประสบปัญหาเงินไหลออกถึง 263.05 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 7,892 ล้านบาทต่อเดือน แม้ปัจจุบันจะมีเงินไหลเข้าจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์และน้ำมันเตาประมาณ 144.48 ล้านบาทต่อวัน แต่ก็ต้องนำเงินไปอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) รวม 407.54 ล้านบาทต่อวัน ทำให้กองทุนฯ ยังอยู่ในภาวะเงินไหลออก 263.05 ล้านบาทดังกล่าว

ทั้งนี้ส่งผลให้ภาพรวมกองทุน ฯ ล่าสุด ที่รายงานโดย สกนช. ณ วันที่ 15 ต.ค. 2566 พบว่าสถานะกองทุนฯ เริ่มติดลบมากขึ้น โดยติดลบรวม 70,230 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 25,121 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,109 ล้านบาท

ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังขยับสูงขึ้น ล่าสุด ณ วันที่ 24 ต.ค. 2566  เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 90.83 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.31 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 85.90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  เพิ่มขึ้น 0.41 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 90.33 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตามเมื่อมาดูในด้านค่าการตลาดน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 24 ต.ค. 2566 ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.50 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินอยู่ในระดับสูงประมาณ 3 บาทต่อลิตร  โดยค่าการตลาดเฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1-24 ต.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 2.55 บาทต่อลิตร ซึ่งค่าการตลาดที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับ 1.50-2 บาทต่อลิตร

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เตรียมที่จะเปิดประชุมในเร็วๆ เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มเงินชดเชยราคาดีเซลให้มากขึ้น หากราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นอีก เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาจำหน่ายดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร โดยล่าสุดได้นำเงินกองทุนฯ ไปชดเชยราคาดีเซลแล้วที่ 5.52 บาทต่อลิตร  

Advertisment

- Advertisment -.