สัปดาห์หน้ากองทุนน้ำมันติดลบ 9 หมื่นล้านใกล้ทำลายสถิติยุครัฐบาลทักษิณ

- Advertisment-

หนี้กองทุนน้ำมันใกล้ทำลายสถิติยุครัฐบาลทักษิณคาดสัปดาห์หน้าติดลบแตะ 9 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมประชุมภายใน มิ.ย. 2565 นี้ ตัดสินใจอุ้มต่อหรือปล่อยลอยตัวดีเซลและ LPG หลังวันที่ 10 มิ.ย.ใช้กองทุนน้ำมันชดเชยดีเซลอยู่ 9.92 บาทต่อลิตร และLPG ชดเชยอยู่ที่ 13.86 บาทต่อกิโลกรัม

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center- ENC ) รายงานว่า ในวันที่ 10 มิ.ย. 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ( กบน.) ได้เปิดประชุมอีกรอบ เพื่อเพิ่มเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซล โดยปรับเพิ่มการชดเชยเป็น 9.95 บาทต่อลิตร จากวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ชดเชยอยู่ที่ 9.92 บาทต่อลิตร ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และการชดเชยดังกล่าวจะช่วยพยุงราคาดีเซลขายปลีกไม่ให้เกิน 33.94 บาทต่อลิตรได้

โดยการชดเชยราคาดีเซลดังกล่าวเนื่องจากราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นและทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันลดต่ำลง โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) รายงานค่าการตลาดน้ำมันดีเซลของผู้ค้าในวันที่ 10 มิ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.37 บาทต่อลิตร

- Advertisment -

ขณะที่ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 16.30 น. ยังทรงตัวระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ระดับ 117.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.22 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 121.80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.29 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 123.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ในเดือน มิ.ย. 2565 นี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะต้องเปิดประชุมเพื่อสรุปมาตรการดูแลราคาดีเซลและ LPG หลังสิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2565 นี้ว่าจะยังชดเชยราคาต่อไปหรือจะปล่อยลอยตัวตามต้นทุนจริง ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้กำหนดให้ดูแลราคาดีเซลในลักษณะปรับขึ้นราคาได้แบบคนละครึ่งระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2565 ขณะที่ราคา LPG ที่ประชุม กบง.ที่ผ่านมากำหนดให้ชดเชยราคาต่อ แต่ปรับขึ้นเดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม มีผลระหว่างเดือน เม.ย.- มิ.ย. 2565 นี้ ส่วนการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่ใช้มาตั้งแต่ 21 พ.ค. 2565 ก็จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค. 2565 ด้วย

ปัญหาสำคัญอีกประการ คือการที่กองทุนน้ำมันฯ ยังไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินตามเป้าหมาย 2 หมื่นล้านบาทได้สำเร็จเนื่องจากกระทรวงการคลังไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้ เพราะสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำให้ รองนายกรัฐมนตรีและ​รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์​มี​เชาว์​ ต้องนัดหารือร่วมกันระหว่าง กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)​เพื่อหาทางออกเรื่องการดูแลต้นทุนราคาพลังงานในภาพรวมทั้งหมด

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 5 มิ.ย. 2565 ติดลบรวม 86,028 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการต้องชดเชยราคาน้ำมันรวม 50,147 ล้านบาท และมาจากการชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) 35,881 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานคาดว่าในสัปดาห์หน้ากองทุนฯ จะใช้เงินชดเชยราคาพลังงานรวมแตะ 90,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้จะทำลายสถิติการชดเชยราคาน้ำมันที่สมัยรัฐบาลทักษิณเคยใช้เงินไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 92,070 ล้านบาท

โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ ทีดีอาร์ไอ ได้จัดทำรายงานผลกระทบจากนโยบายการแทรกแซงราคาน้ำมัน เมื่อปี 2550 โดยพบว่า ในช่วงปี 2547-2548 รัฐบาลทักษิณได้อุดหนุนราคาดีเซลอย่างหนัก เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯและอิรักและปัญหาทางการเมืองของประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ส่งผลให้รัฐบาลทักษิณประกาศตรึงราคาเบนซิน 95 ไว้ที่ 16.99 บาทต่อลิตร และเบนซิน 91 ไว้ที่ 16.19 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลตรึงไว้ที่ 14.59 บาทต่อลิตร ซึ่งใช้เงินกองทุนฯ ไปพยุงราคาไว้หลายล้านบาท จนท้ายที่สุดต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่ก็ยังไม่สามารถพยุงราคาได้อีกต่อไป จนเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2548 ได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำมันและสิ้นสุดการพยุงราคาดีเซลและเบนซิน พร้อมกับสรุปการใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันไปถึง 92,070 ล้านบาท และกู้เงินจากสถาบันการเงินมาพยุงราคาน้ำมันรวม 71,000 ล้านบาท

Advertisment

- Advertisment -.