ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของ กฟผ. ใกล้ความจริง ตอบโจทย์กระแสโลก ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของโลก เดินหน้างานวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า ลดการใช้น้ำมันและลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งไปในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงฝีมือคนไทย ราคาไม่แพง เข้าถึงง่าย ทั้งยังเป็นการสนองยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นการตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดการใช้งานมากขึ้นด้วย

เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ  กฟผ. จึงได้ทราบความคืบหน้าล่าสุดของภารกิจวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. ทำให้รู้ว่า กฟผ. อยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่พุ่งเป้าไปที่รถยนต์เก่ายอดนิยม โดยเน้นพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ  (Local Content) ให้มากที่สุด ทั้งมอเตอร์ (EV Motor) แบตเตอรี่ (EV Battery) คอนโทรลเลอร์ (EV Controller) และ ระบบชาร์จ (EV Charger) เพื่อลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่มีต้นแบบจาก กฟผ. มีต้นทุนที่แข่งขันได้ มีราคาค่าดัดแปลงที่จับต้องได้และเข้าถึงได้ง่าย

- Advertisment -

แม้โครงการวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่ กฟผ. ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สวทช.) ในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างจะขลุกขลักอยู่บ้างในรถรุ่นแรกๆ ที่นำมาดัดแปลง คือ ฮอนด้า แจ๊ส  แต่เมื่อเรียนรู้และหาทางแก้ปัญหาเรื่อยมา จนมาถึงการดัดแปลงรถยนต์สองรุ่น คือ นิสสันอัลเมร่า (อีโคคาร์) และ โตโยต้า อัลติส (รถยนต์โดยสารส่วนบุคคลขนาดกลาง) ก็พบว่า โครงการวิจัยฯ เข้าใกล้ความสำเร็จไปทุกขณะ โดยรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงโตโยต้า อัลติส ที่ทาง สวทช. จะส่งมอบให้ กฟผ. ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ก็น่าจะตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ วิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 200 กิโลเมตร ต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบตเตอรี่มีอายุประมาณ 8-10 ปี ราคาการดัดแปลงไม่รวมแบตเตอรี่ ประมาณไม่เกิน 2 แสนบาทต่อคัน 

หลังจากการส่งมอบแล้ว สิ่งที่ กฟผ. จะต้องทำงานต่อ คือการคัดเลือกอู่ซ่อมรถที่มีความพร้อม จำนวน 3 อู่ นำร่องเข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการดัดแปลง โดยที่ กฟผ. จะสนับสนุนชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า หรือ ชุด EV Kit ต้นแบบ ที่ สวทช. และ กฟผ. ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้อู่ซ่อมใช้ชุด EV Kit นี้ ดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าตามต้นแบบ และในระยะต่อไป กฟผ. จะช่วยหาโรงงานจ้างผลิต (OEM) EV Kit เพื่อให้ผลิตออกมาขายได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้มีการขยายจำนวนรถดัดแปลงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า คือ แบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาแพง กฟผ. จึงมองหาแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแบตเตอรี่ได้ในราคาที่ถูกลง โดยอาจจะเป็นการเช่าซื้อ หรือ ให้เช่าใช้ได้ และในอนาคต กฟผ. มีแผนผลิตชุด EV Kit เพื่อจำหน่ายพร้อมแบตเตอรี่ ภายใต้แบรนด์ของ กฟผ. เอง โดยจะดำเนินการภายใต้บริษัทด้านนวัตกรรมที่จะจัดตั้งขึ้นต่อไป  

นอกเหนือจากความสำเร็จในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้สามารถใช้งานได้แล้ว เป้าหมายหนึ่งของความสำเร็จที่ กฟผ. ตั้งไว้คือ เมื่อคนเห็นว่ารถยนต์เก่าใช้น้ำมันสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้ววิ่งได้จริง ในราคาไม่แพง ก็จะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ปัญหาเรื่องไอเสีย ควันดำจากรถเก่า ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สร้างมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ก็จะบรรเทาเบาบางลงได้

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ.

“โครงการการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นการก้าวทันกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีแนวโน้มใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และยังเป็นการสนองยุทธศาสตร์ชาติ และสนับสนุนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ อีกทั้งการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทดแทนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษทางอากาศ และช่วยลดภาวะโลกร้อน” ดร.จิราพร กล่าว

นอกเหนือจากรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง กฟผ. ยังมีงานวิจัยยานยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นอีก เช่น รถเมล์ไฟฟ้า ที่เป็นการนำรถเมล์เก่าของ ขสมก. ที่หมดอายุการใช้งานแต่โครงสร้างของตัวรถยังอยู่ในสภาพดี มาดัดแปลงเป็นรถเมล์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่อย่างเดียวอีกด้วย ซึ่งใกล้จะได้นำมาทดลองใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

 

สำหรับการพัฒนา EV Charging Station ของ กฟผ. ก็มีความก้าวหน้าเช่นกัน จากปัจจุบัน กฟผ. ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า แล้ว 10 สถานี 23 หัวจ่าย แบ่งเป็น หัวจ่ายแบบ Quick Charger 12 หัวจ่าย และ Normal Charger 11 หัวจ่าย ล่าสุด กฟผ. อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Charger โดย Charging Platform ให้สามารถควบคุมเครื่องชาร์จไฟฟ้าได้อย่างอัตโนมัติ ลดการใช้บุคลากรในการดูแล เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นสถานีไร้คนเฝ้าประจำ และเป็นฐานข้อมูลโดยอัตโนมัติ สอดรับกับแผนโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศ

นอกจากนั้น กฟผ. ยังมีโครงการศึกษาศักยภาพจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะ และโครงการศึกษาและพัฒนาเรือไฟฟ้าและการเดินเรือไฟฟ้าเพื่อสาธารณะ ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาต่อยอดให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางสัญจรของประชาชน

      

อย่างไรก็ตาม ดร. จิราพร ระบุว่า การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. จำเป็นต้องอาศัยกลไกของภาครัฐในการผลักดันให้เกิดการต่อยอดให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ทั้งการสนับสนุนให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น การปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมการวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่จะช่วยผลักดันให้ไทยมีความก้าวหน้าไปสู่การผลิตและประกอบรถ EV ได้ในอนาคต

“อยากให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า ให้เพิ่มมากขึ้นและกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความกังวลของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในกรณีเดินทางระยะไกลว่า จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้บริการเพียงพอ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น นอกจากนั้น ต้องปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้รองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าและเอื้ออำนวยต่อการเกิดตลาดยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงให้การสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น งานวิจัยแบตเตอรี่ เป็นต้น”

จะเห็นได้ว่า การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยส่งเสริมนโยบายภาครัฐด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศในสังคมเมืองอย่างต่อเนื่อง กฟผ. พยายามที่จะเข้าไปถอดรหัส หาคำตอบ เพื่อวิจัยพัฒนาดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ มากกว่าการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานเพียงอย่างเดียว และแน่นอนว่า ทีมวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ ที่มี ดร. จิราพร ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ เป็นหัวหน้าทีม กำลังทำงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมและมีความภูมิใจกับความก้าวหน้าในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของไทย

Advertisment

- Advertisment -.