พลังงาน เร่งหารือทางออกหวั่น กบง.เปิดประชุมไม่ได้ กระทบราคา LPG-NGV ที่จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาเดือน มิ.ย.2566 นี้

- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมหารือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สัปดาห์หน้า เตรียมแผนสำรองหากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ รมว.พลังงาน เป็นประธาน เปิดประชุมไม่ได้ จากปัญหาการเมืองที่ยังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่สำเร็จ หวั่นกระทบราคาก๊าซหุงต้มที่จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา LPG 423 บาทต่อถังขนาด 15  กิโลกรัม ชี้หากไม่ทำอะไรเลยราคาจะลอยตัวปรับขึ้นมา 4-5  บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ขณะเดียวกันมาตรการตรึงราคา NGV สิ้นสุด 15 มิ.ย. 2566 เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมหารือสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้กำหนดให้ตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวในสิ้นเดือน มิ.ย. 2566 นี้

แต่เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประชุม กบง. เนื่องจากประธานการประชุม กบง. คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่อาจไม่สามารถจัดการประชุมเกี่ยวกับราคา LPG ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันได้ ประกอบกับไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งรองประธาน กบง. ที่จะเปิดการประชุมแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย

- Advertisment -

ดังนั้น สกนช.จะต้องหารือกับ สนพ. ว่าจะดำเนินการอย่างไรหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่สามารถประชุมพิจารณาราคา LPG ได้ หรืออาจต้องให้กฤษฎีกาตีความกฎหมายเพื่อให้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) บริหารจัดการแทนชั่วคราว เนื่องจาก กบน. มีบทบาทดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันและ LPG ในประเทศให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามจะต้องได้คำตอบภายในกลางเดือน มิ.ย. 2566 นี้ เนื่องจากหากไม่ดำเนินการใดๆ จะส่งผลให้ราคา LPG อาจขยับขึ้นมาตามราคาตลาดโลกประมาณ 4-5 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม และจะส่งผลสะท้อนไปสู่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศได้

โดยปัจจุบันราคา LPG ตลาดโลกอยู่ที่ 26 บาทต่อกิโลกรัม แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของบัญชี LPG ได้เข้าไปชดเชยราคาอยู่ 27 สตางค์ต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาจำหน่ายจริงอยู่ที่ 25.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม แต่หากปล่อยลอยตัวราคาจะขยับขึ้นมา 4 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็น 5 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบทางด้านจิตวิทยาต่อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ ดังนั้นต้องมีมาตรการดูแลราคา LPG ก่อนสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาในวันที่ 30 มิ.ย. 2566 แน่นอน

ส่วนกรอบวงเงินที่ใช้ชดเชยราคา LPG ที่ กบน.กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 48,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 46,507 ล้านบาท เบื้องต้นยังไม่จำเป็นต้องขยายกรอบวงเงิน เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินที่เรียกเก็บจากโรงแยกก๊าซฯ ทำให้บัญชี LPG มีเงินไหลเข้าวันละ 19.93 ล้านบาท หรือ 618 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเพียงพอต่อการชดเชยราคาจำหน่ายปลีก LPG จำนวน 27 สตางค์ต่อกิโลกรัมได้

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 28 พ.ค. 2566 กองทุนฯ ยังคงติดลบสุทธิ 69,427 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 22,920 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 46,507 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามนอกจากสิ้นเดือน มิ.ย. 2566 นี้ จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา  LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมแล้ว ในวันที่ 15 มิ.ย. 2566 นี้จะสิ้นสุดมาตรการด้านราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ กบง. เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 กำหนดให้ราคา NGV ทั่วไปจำหน่ายที่ 17.59 บาทต่อกิโลกรัม และโครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกันของ ปตท. ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับที่ประชุม กบง. ว่าจะสามารถจัดประชุม เพื่อบริหารจัดการราคา LPG และ NGV ในเดือน มิ.ย. 2566 ได้หรือไม่ต่อไป    

Advertisment

- Advertisment -.