เปิดแผนลงทุนกฟผ.1ล้านล้านภายในปี2580 “บุญญนิตย์” ขอบริหารในสไตล์ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์”

- Advertisment-

ผู้ว่า กฟผ.คนที่ 15 “บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” เปิดแผนลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ และระบบสายส่ง  ภายใต้แผน PDP2018ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท  พร้อมสไตล์การบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์” และแนวคิด EGAT for All กฟผ.เป็นของคนไทยทุกคน และทำเพื่อทุกคน เพื่อเดินหน้าเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานครบวงจร สอดรับยุค Digital Disruption และ New Normal

วันนี้ (15 ธันวาคม 2563) นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมทีมผู้บริหาร กฟผ. ร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ หอประชุมเกษม จาติกวณิช สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี โดยนายบุญญนิตย์ จะมีระยะเวลาการทำงานในตำแหน่งอีกประมาณ 2 ปี 9 เดือน

- Advertisment -
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่า กฟผ.คนที่ 15 ที่จะมีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 9 เดือน

นายบุญญนิตย์  กล่าวว่า ในยุค New Normal และ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงรูปแบบการผลิตไฟฟ้าซึ่งถูกกำหนดโดยผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น หรือ Digital Disruption กฟผ.  จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้อง โดยปรับวิธีคิดและการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “EGAT for ALL” หรือ กฟผ. เป็นของทุกคน และทำเพื่อทุกคน เพราะนอกจากการผลิตและส่งไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศแล้ว การดำเนินงานของ กฟผ. ยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความหลากหลายในยุคดิสรัปชั่น โดยตั้งเป้าเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Solutions Provider) ด้วยหลักการบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์”  ที่จะทำให้สิ่งที่อยู่ในมือมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการลงทุนผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ(พ.ศ.2561-2580) หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และระบบส่งไฟฟ้ารวมเป็นเงิน 1 ล้านล้านบาท ( 60% เป็นการลงทุนโรงไฟฟ้า 40% เป็นการลงทุนระบบสายส่ง) หรือเฉลี่ยลงทุนปีละ  5.6 หมื่นล้านบาท

โดยโรงไฟฟ้าใหม่ที่ กฟผ. จะสร้างตามแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลัก 8 โรง มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 6,150 เมกะวัตต์  ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง 650 เมกะวัตต์ เข้าระบบ ในปี 2568, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 600 เมกะวัตต์  เข้าระบบในปี 2569,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 1,400 เมกะวัตต์  และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี  700 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบใน ปี 2571,โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี (ชุดที่ 2 ) 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2572 และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2578

นอกจากนี้ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating solar) ร่วมกับ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จำนวน 16 โครงการ รวมปริมาณ 2,725 เมกะวัตต์  ตั้งแต่ปี 2563-2580 โดยจะนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเสร็จกลางปี 2564

ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดปลายแผน PDP ดังกล่าว สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จะเหลือประมาณ 30% และเป็นส่วนเอกชนอีก 70%

อย่างไรก็ตามแผนการลงทุนดังกล่าวพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุน ตามแผน PDP ฉบับใหม่ที่กระทรวงพลังงาน อยู่ในระหว่างการจัดทำขึ้น

โรงไฟฟ้าสร้างใหม่ของ กฟผ.ภายใต้แผน PDP2018 rev1

ด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. มุ่งพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน (Grid Connectivity) ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานของภูมิภาค และปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าในประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยในปี 2564 จะเร่งดำเนินการสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา (วัฒนานคร จ.สระแก้ว – พระตะบอง 2 กัมพูชา) เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ (RE Forecast Center) ซึ่ง สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ละเอียดในระดับราย 30 นาที จนถึงในอีก 7 วันถัดไปได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งนำร่องศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เชื่อมต่อกับระบบของ กฟน. และ กฟภ. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการตอบสนองทางด้านโหลดในภาพรวมของประเทศ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) มีความพร้อมจ่ายสูง โดยเริ่มนำร่องที่โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 แล้ว ทำให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีพลังงานหมุนเวียนเชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าปริมาณมาก

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในปัจจุบันต้องเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเดิมด้วย และ กฟผ. จะไม่เดินเพียงลำพัง จะแสวงหาพันธมิตรร่วมเป็นคู่ค้าเพื่อสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ ตลอดจนการสร้างการเติบโตผ่านบริษัทในกลุ่ม กฟผ. และเดินหน้ารุกธุรกิจเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเดิม อาทิ การขายไฟฟ้าไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น ธุรกิจนำเข้า LNG ขยายธุรกิจบำรุงรักษาสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ กฟผ. ยังเตรียมบุกธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า, เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (EGAT DC Quick Charger) ขนาด 100 กิโลวัตต์, ธุรกิจสมาร์ทอีวีชาร์จเจอร์ขนาดเล็กแบบครบวงจรภายใต้แบรนด์ Wallbox, ชุดดัดแปลงสภาพรถยนต์ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Kit), ธุรกิจแบตเตอรี่อัจฉริยะ (Batt 20C) สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว, ธุรกิจซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC)

ทั้งนี้ กฟผ. ยังมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาต่อยอดการดูแลสังคมอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด “CSR for ALL เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน” ทั้งในมิติเศรษฐกิจ (Prosperity) จากโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคที่อยู่อาศัย ต่อยอดสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการไฟฟ้าแบบครบวงจร เช่น การออกแบบมาตรฐานอุปกรณ์ไฟฟ้า การจัดการการใช้ไฟฟ้าผ่านแอพพลิเคชั่น การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน ส่วนในมิติสังคมและชุมชน (People) จากการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืนด้วยโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการชีววิถี โครงการห้องเรียนสีเขียว ต่อยอดสู่โคก หนอง นา โมเดลวิถีใหม่ตามศาสตร์พระราชา และพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชนผ่านการสนับสนุนการท่องเที่ยวและสินค้าชุมชน สำหรับมิติสิ่งแวดล้อม (Planet) จากโครงการปลูกป่าและการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก ต่อยอดสู่นวัตกรรมดูแลคุณภาพอากาศ EGAT Air TIME ได้แก่ การปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Tree) นวัตกรรมสีเขียว (Innovation) การติดตามคุณภาพอากาศ (Monitoring) และการถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความตระหนักในการดูแลคุณภาพอากาศ (Education & Engagement)

“ผมมุ่งมั่นจะวางรากฐานให้ กฟผ. พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยหลักการบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์” โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เสริมความแข็งแกร่งด้วยพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมกับยกระดับการทำงานสู่มืออาชีพด้านพลังงานไฟฟ้าที่โดดเด่น ตลอดจนสร้างการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย

Advertisment

- Advertisment -.