บางจากฯ ทุ่ม 5 หมื่นล้านปี 2567 ขยายธุรกิจสีเขียว

- Advertisment-

บางจากฯ ทุ่มงบลงทุนปี 2567 ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เน้นขยายการลงทุนธุรกิจสีเขียว คาดรายได้จากการขายน้ำมันแตะ 5 แสนล้านบาท หลังซื้อกิจการเอสโซ่ มั่นใจในปี 2573 จะมีEBITDA แตะระดับ 100,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมใช้งบลงทุนในปี 2567 ที่ระดับ 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะมุ่งเน้นขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียวเป็นหลัก โดยตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 7,770 กิกะวัตต์-ชั่วโมง(Gwh) จากปี 2566 นี้ อยู่ที่ 3,700 กิกะวัตต์-ชั่วโมง(Gwh) ขณะที่ปี 2567 รายได้จากการขายน้ำมัน จะแตะระดับ 500,000 ล้านบาท จากปีนี้ อยู่ที่ระดับ 360,000 ล้านบาท ตามการรับรู้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเต็มปี หลังจากบางจากฯ ได้เข้าซื้อกิจการของ บริษัทบางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) เดิม

“บริษัท มั่นใจในปี 2573 จะมีEBITDA แตะระดับ 100,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย จากปัจจุบันทำได้แล้วระดับ 40,000-50,000 ล้านบาท โดยปี 2567-2573 จะใช้เงินลงทุนขับเคลื่อนธุรกิจระดับ150,000 ล้านบาท”

- Advertisment -

โดยหลังจากที่บางจากฯ ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอสโซ่ ก็ได้กำหนดแผนธุรกิจและเป้าหมายสำคัญในปี 2567 ในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ดังนี้

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันมาตรฐานระดับโลก 2 แห่ง ตั้งเป้าหมายอัตราการกลั่นน้ำมันดิบ รวม 266,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 72% จาก 155,000 บาร์เรลต่อวันในปี2566) โดยโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงมีแผนขยายระยะเวลาของรอบการหยุดซ่อมบำรุงจาก 2 ปี เป็น 4 ปี ทั้งยังมีการศึกษาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาโรงกลั่นมุ่งสู่การเป็นโรงกลั่นชีวภาพ (Bio-refinery) ซึ่งผลิตน้ำมัน Biofuel 2nd Generation ที่มีคุณสมบัติ Drop-in เทียบเท่ากับน้ำมันฟอสซิล โดยมีเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เป็นผลิตภัณฑ์แรก

ขณะเดียวกันจะนำความสำเร็จจากการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงมาใช้กับโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา โดยตั้งเป้ามีอัตราการกลั่นน้ำมันดิบ สำหรับโรงกลั่นบางจากศรีราชาในปี 2567 ที่ 155,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ดำเนินงานมา

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมันของบางจากฯ มีการดำเนินธุรกิจครบวงจรใน value chain ด้วยธุรกิจจัดหาน้ำมันดิบผ่านบริษัท บีซีพี เทรดดิ้ง (BCPT) ในประเทศสิงคโปร์ ธุรกิจบริหารการขนส่งเชื้อเพลิงทางรถ เรือ และทางท่อและโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ผ่านบริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) และธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ผ่านบริษัทบีเอสจีเอฟ (BSGF) และ ล่าสุด ได้จัดตั้งบริษัท รีไฟเนอร์รี่ ออฟติไมซ์เซชั่น แอนด์ ซินเนอร์ยี่ เอนเตอร์ไพรส์ (ROSE) เพื่อจัดทำแผนและบริหารงานธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 2 แห่ง ให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนให้กับบางจากฯ ต่อไป

กลุ่มธุรกิจการตลาด ตั้งเป้าขยายเครือข่ายสถานีบริการจาก 2,221 สถานี ณ สิ้นปี 2566 เป็นมากกว่า 2,500 สถานีในปี 2573 รวมถึงตั้งเป้าในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าผ่านการขยายธุรกิจ non-oil เช่น การขยายร้านอินทนิลเพิ่มขึ้นปีละ 140 สาขา เป็น 2,000 สาขาในปี 2573 นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์บางจากที่สถานีบริการเป็น “ใบไม้ใบใหม่” และการผสาน 2 แบรนด์เข้าสู่แบรนด์บางจากอย่างราบรื่น ปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์และเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ “เอสโซ่” เป็น “บางจาก” ด้วยแนวคิด “Your Greenovative Destination for Intergeneration” ซึ่งทั้งหมดจะให้เสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย. 2567

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่ง และความเติบโตของธุรกิจหลัก (Core Business) คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายปี 2567 จะมีปริมาณการผลิตไฟฟ้า (กิกะวัตต์-ชั่วโมง) เติบโตกว่าเท่าตัว พร้อมมุ่งเน้นธุรกิจที่เป็น New S Curve อาทิ ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสำหรับโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว และธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ

บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าหมายปริมาณจำหน่ายปี 2567 เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2566 เป็น560 ล้านลิตร มุ่งสร้างการเติบโตในธุรกิจหลักจากการขยายเครือข่าย และเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง โดยร่วมกับบางจากฯ ในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) และโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์ที่ร่วมทุนกับ Fermbox Bio จากสหรัฐอเมริกา โดยในระยะแรกจะผลิตเอนไซม์ ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 200,000 ลิตรในปี 2567 และเพิ่มเป็นมากกว่า 1 ล้านลิตรในปี 2570 และขยายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) อื่น ๆ

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและกลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานผ่านการขยายธุรกิจ โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตั้งเป้าหมายเติบโต 74% มีกำลังการผลิตปิโตรเลียม 40,000 boepd (บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ในปี 2567 และมีเป้าหมายกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 boepd ภายในปี พ.ศ. 2573 จากการดำเนินงานแหล่งปิโตรเลียมในประเทศของนอร์เวย์ผ่านบริษัทฯ OKEA ASA รวมถึงการแสวงหาการเติบโตในธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งใหม่ ๆ ในทวีปอื่น ๆ  ที่มีศักยภาพ 

Advertisment

- Advertisment -.