นายกรัฐมนตรีเรียกกระทรวงพลังงานถกตรึงค่าไฟ โยน กฟผ. รับภาระต้นทุนแทนประชาชน​เกินแสนล้าน

- Advertisment-

นายกรัฐมนตรีเรียกกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​ ประชุมหารือความเป็นไปได้ในการตรึงค่าไฟฟ้าเอฟที งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 65 วันที่ 4 ส.ค. นี้โดยให้ กฟผ. ช่วยรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนไปก่อน ในขณะที่มีความกังวลการก่อหนี้ของ กฟผ. ที่มากเกินไปอาจจะส่งผลต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา และมีข้อสรุปการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ซึ่งเดิม กกพ.มีกำหนดจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 1 ส.ค. 65 นั้น ได้มีการสั่งเลื่อนการแถลงข่าวการปรับขึ้นค่า Ft ดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากวันที่ 4 ส.ค. 65 ทางพลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มี​เชาว์​ รองนายกรัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กกพ. เข้าหารือเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการตรึงค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 เอาไว้ก่อน โดยจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง​ประเทศ​ไทย (กฟผ.)​ เข้ามาช่วยแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนต่อเนื่องอีกงวด

อย่างไรก็ตามมีประเด็นข้อกังวลจากทาง กฟผ. ที่ต้องพิจารณาว่า การที่จะให้ กฟผ. ต้องรับภาระค่า Ft เพิ่มขึ้นอีก และทำให้ กฟผ. ต้องกู้เงินสูงเกิน 1 แสนล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น จะกระทบต่อการก่อหนี้สาธารณะและกระทบต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศ​หรือไม่ เพราะเป็นวงเงินที่เกินเพดานการกู้ที่ กฟผ.เคยกำหนดไว้ในแผน ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี

- Advertisment -

ซึ่งหากถูกปรับลดเครดิตเรทติ้ง ก็จะกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของรัฐวิสาหกิจที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น และต้นทุนดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าที่จะจัดเก็บกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในที่สุด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว​พลังงาน ( Energy News Center-ENC )​ รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 65 ที่ผ่านมาได้อนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ให้ กฟผ. เพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 11 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่วงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 จะครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขเดิม ประกอบด้วยกู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) โดยจะพิจารณาทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินที่เสนอรูปแบบที่มีต้นทุนต่ำที่สุดตามอัตราดอกเบี้ยตลาด โดยกระทรวงการคลัง จะไม่ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินดังกล่าว

โดยข้อมูลที่ได้รายงานให้ ครม.รับทราบนั้น กฟผ. จะมีภาระค่า Ft สะสมถึงเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ประมาณ 87,849 ล้านบาท ซึ่งทำให้สภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ. ในปี 2565 ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ มีการระบุว่า กกพ. จะเลือกแนวทางการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 อีกประมาณ 68.66 สต.ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมพุ่งเป็น 4.72 บาทต่อหน่วยจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 4.00 บาทต่อหน่วย ดังนั้นหากรัฐบาลมีนโยบายให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นอีก ภาระสะสมของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นมากกว่าแสนล้านบาท และ กฟผ. จะต้องเพิ่มวงเงินที่จะกู้สูงกว่า 85,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการก่อหนี้ของ กฟผ.ที่มาจากการแบกรับภาระค่า Ft สูงสุดเป็นประวัติการณ์​

  • Ft ย่อมาจากคำว่า Fuel Adjustment Charge (at the given time) หมายถึง ค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า
Advertisment

- Advertisment -.