ปตท.จับมือ GPSC สร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบที่สหรัฐฯ

- Advertisment-

ปตท.ลงนามสัญญากับ โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูก  ตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ ในสหรัฐอเมริกา เพื่อ รองรับการผลิตไฟฟ้าไฟฟ้าภาคครัวเรือน  คาดใช้วง เงินลงทุนเบื้องต้นไม่เกิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี ก่อนต่อยอดเชิงพาณิชย์

พิธีลงนามมีขึ้นวันที่ 22 ส.ค. 2562 โดยมี นายชวลิต ทิพพาวนิช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  GPSC เป็นผู้ลงนามร่วมกับนายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา “โรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant)ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid)” กับ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อพัฒนาไปสู่ธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานเชิงพาณิชย์ต่อไป

ชวลิต ทิพพาวนิช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  GPSC

นายชวลิต ทิพพาวนิช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  GPSC กล่าวว่าการวิจัยนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุน ปัจจุบันสามารถพิสูจน์แล้วว่านำมาใช้ได้จริง โดย GPSC จะจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบขึ้น ที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ใกล้กับบริษัท 24M ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาได้เร็วขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำโรงงานต้นแบบ 2 ปี โดย กลุ่ม ปตท.จะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 20ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนที่เหลือจะหาพันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนต่อไป

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม GPSC อยู่ระหว่างการทำข้อเสนอถึง บริษัท 24M ว่า GPSC จะมีการลงทุนอุปกรณ์โรงงานต้นแบบ โดยหากจะให้การดำเนินการได้เร็วขึ้นควรตั้งอยู่ในสหรัฐฯ เพื่อให้เจ้าของเทคโนโลยีช่วยดำเนินการผลิตและทำให้เกิดผลสำเร็จได้เร็วขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะมีความชัดเจนทั้งพันธมิตรร่วมทุนและพื้นที่จัดตั้งโรงงานภายในสิ้นปี 2562 นี้

โมเดลจำลองแบตเตอรี่

สำหรับโรงงานต้นแบบดังกล่าว เป็นการทดลองผลิตแบตเตอรี่ได้หลายสูตร ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid) โดยสูตรเคมีชนิดแรกที่จะดำเนินการคือ สูตร Lithium Iron Phosphate หรือ LFP ซึ่งสามารถใช้เป็นแบตเตอรี่สำรองสำหรับรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีขนาด 10 เมกะวัตต์-ชั่วโมง โดยข้อดีของสูตรเคมีดังกล่าว กระบวนการผลิตใช้เวลาน้อยกว่าชนิดอื่น 50% ทำให้ใช้วัตถุดิบน้อยกว่า และสามารถรีไซเคิลได้ง่ายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกิดปัญหาไฟไหมแบตเตอรี่ได้ยาก ที่สำคัญทำให้ต้นทุนการผลิตถูกกว่าชนิดอื่นด้วย ซึ่งปกติราคาแบตเตอรี่ที่ทั่วโลกยอมรับว่าสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้จะอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ปัจจุบันราคายังอยู่ระดับ  160-170 เหรียญสหรัฐฯต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสูตร LFP ของ บริษัท 24M  เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนสามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีอื่นๆได้ และถ้าพิสูจน์แล้วว่าโรงงานต้นแบบดังกล่าวสำเร็จ GPSC เตรียมจะขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้นเพื่อเดินหน้าเชิงพาณิชย์ต่อไป

โรงงานต้นแบบดังกล่าวนอกจากจะทดลองผลิตแบตเตอรี่สูตร LFP แล้ว จะผลิตแบตเตอรี่สูตร Lithium Nickel Manganese Cobalt oxide หรือ MMC ควบคู่กันไป ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่เหมาะสมสำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่มีความจุไฟฟ้าได้สูงเหมาะกับความเร่งต่อการใช้ของรถยนต์ โดยจะใช้เวลา 2 ปีเช่นกัน หากสำเร็จจะต้องหาผู้ร่วมทุนและผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์เช่นกัน

โดยในอนาคตหากโรงงานต้นแบบสำเร็จแล้ว เชื่อว่ากลุ่ม ปตท.จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวแต่เป็นขนาดเล็กเพื่อใช้ในพื้นที่เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ  (EECi) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับผลิตไฟฟ้าสูง

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอ ปตท.

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในระยะเวลา 15 วันหลังการลงนาม ทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ (Steering Committee) รวม 7 คน  โดยมีประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. เป็นประธาน ในส่วนของกรรมการท่านอื่น จะมาจากผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 บริษัท เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลความก้าวหน้าและติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

การดำเนินการในระยะแรก คณะกรรมการฯ จะทำการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการศึกษาในรายละเอียด ในการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบตเตอรี่เทคโนโลยี Semi-Solid จัดทำแผนการก่อสร้าง แผนการควบคุมการผลิตและทดสอบ กำหนดตัวชี้วัด และเกณฑ์การพิจารณา เพื่อเป็นขั้นตอนพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีทั้งทางด้านเทคนิค และเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งจัดทำงบประมาณในการดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant)

ในระยะถัดไป หากทั้งสองฝ่ายตัดสินใจร่วมดำเนินการลงทุนก่อสร้าง Pilot Plant แล้ว จะมีการกำหนดแผนการผลิต และดำเนินการผลิตแบตเตอรี่จากโรงงานต้นแบบตามตัวชี้วัด และเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมมีการส่งมอบแบตเตอรี่ที่ผลิตได้ นำไปสู่การใช้งานจริง โดยผ่านการทดสอบจากกลุ่มลูกค้า เพื่อนำข้อเสนอแนะจากลูกค้ากลับมาพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น และร่วมกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิค และเศรษฐศาสตร์ในการขยายการผลิตสู่ระดับเชิงพาณิชย์ร่วมกัน (Commercial Scale) ต่อไป

Advertisment