ถ้ายังไม่อยู่ในแผนพีดีพี​ TPIPP​ กับ พันธมิตรเกาหลี​ผุดโครงการคลังLNG และโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้ได้ยาก​

N4037
- Advertisment-

โครงการเมกะโปรเจ็กต์ LNG และโรงไฟฟ้า ที่ภาคใต้​ของ​TPIPP ที่จับมือเป็นพันธมิตรกับ Korea Gas Corporation และ Korea Western Power ยังไม่ง่ายที่จะผลักดันให้สำเร็จหากโครงการโรงไฟฟ้าไม่ถูกบรรจุไว้ในแผนPDP​และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ.

แม้ว่าเมื่อเร็วๆนี้ทางผู้บริหารของบริษัท​ ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด​(มหาชน)​ ซึ่งนำโดย​ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU​กับผู้แทนของ บริษัท Korea Gas Corporation และ บริษัท Korea Western Power เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และ LNG Terminal ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอ จะนะ จังหวัด สงขลา แล้วก็ตาม​ แต่นั่นก็ถือเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชน​ ที่ต้องรับภาระความเสี่ยงทางธุรกิจกันเอง​ ​ ​เพราะกระทรวงพลังงานยังไม่มีแนวคิดที่จะนำโครงการบรรจุไว้ในแผนPDP2022​ ที่จะมีการดำเนินการจัดทำภายในปีนี้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ ( Energy​ News​ Center​ -​ENC )​ รายงานว่า​ การเดินหน้าโครงการดังกล่าว​ ยังต้องรอ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดำเนินการขยายผลเมืองต้นแบบ​ สามเหลี่ยม​มั่นคง​ มั่งคั่ง​ ยั่งยืน​ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส​ พรมเผ่า​ รมช.เกษตรและสหกรณ์​ เป็นประธาน​ ที่จะมีการรายงานต่อนายกรัฐมนตรี​ พลเอกประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ และ​พลเอกประวิตร​ วงษ์​สุวรรณ​ รอง​นายกรัฐมนตรี​ ที่มีการให้สัมภาษณ์สื่อก่อนหน้านี้โดยระบุถึงการจะเสนอให้ยุติการดำเนินโครงการเอาไว้ชั่วคราว​ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่​ที่ยังไม่ได้ผ่านความเห็นจากทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ​และสังคมแห่งชาติตามที่​ ครม.​เคยมีมติ

- Advertisment -

ในขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน​ ให้ควา​มเห็นตามที่ข่าวระบุว่า​โครงการเมืองต้นแบบจะนะ ที่ ทาง​ TPIPP กำหนดแผนลงทุนระดับแสนล้านเพื่อยกระดับอำเภอจะนะเป็นสมาร์ทซิตี้ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่กระจายสู่อาเซียน เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต​ ที่จะมีทั้ง อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, เมืองอัจฉริยะ, ท่าเรือน้ำลึกและศูนย์การขนส่งและกระจายสินค้า ตลอดจนศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดนั้น หากเป็นการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงและเป็นการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ ก็สามารถที่จะดำเนินการ​ได้​ แต่หากในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีลูกค้าในนิคมฯและผู้พัฒนาต้องการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า​ ( Power​ Perchase Agreement –PPA)​กับ​การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย​ ( กฟผ.)​ เพื่อขายไฟฟ้าให้เข้าระบบก่อน​ ก็จะต้องผลักดันให้มีการบรรจุโครงการดังกล่าวไว้ภายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ​ PDP2022​ ที่อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำให้แล้วเสร็จภายในปีนี้​

อย่างไรก็ตามในแผน​PDP​2018​ฉบับปรับปรุงครั้งที่1​ ซึ่งเป็นแผนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน​ และ​ กฟผ.ต้องดำเนินการลงทุนตามแผนดังกล่าว​ ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี​ที่ใช้​LNG​ เป็นเชื้อเพลิง​ จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์สำหรับเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้เอาไว้แล้ว โดยมีกำหนดจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2570 และ​ 2572 โดยหากรัฐมีนโยบายที่จะให้เอกชนรายใหม่ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน​ ก็จะเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน​ และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น​ ประชาชนจะต้องเป็นผู้รับภาระ​

Advertisment

- Advertisment -.