จับตาโยกย้ายใหญ่​ กระทรวงพลังงาน​ จัดทัพรับนโยบายรัฐบาล

- Advertisment-

จับตากระทรวงพลังงาน เตรียมโยกย้ายจัดทัพผู้บริหารใหม่ หลายตำแหน่ง หวังขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลสู่การปฏิบัติ ในขณะที่ “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ซึ่งผ่านกระบวนการสรรหาจากบอร์ด กฟผ.มาตั้งแต่ 8 มี.ค.2566 หรือกว่า 6 เดือนมาแล้ว​ ยังต้องรอลุ้นว่าจะได้นั่งตำแหน่ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่หรือไม่

ผู้สื่อข่าวศูนย์พลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนัดแรกที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นปลัดกระทรวงพลังงานแทนนายกุลิศ สมบัติศิริ ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2566 ไปแล้วนั้น คาดว่ากระทรวงพลังงานจะมีการปรับโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานระดับกรม ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน หลายตำแหน่ง เนื่องจาก นายสมบูรณ์ หน่อแล้ว รองปลัดกระทรวงพลังงานจะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2566 นี้เช่นเดียวกัน

กุลิศ​ สมบัติศิริ​ ปลัดกระทรวงพลังงาน​ (ซ้าย)​ สมบูรณ์​ หน่อแก้ว​ รองปลัดกระทรวงพลังงาน​ (ขวา)​ เกษียณอายุราชการ​ 30​ กันยายน​ 2566

- Advertisment -
นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

วัฒนพงษ์ คุโรวาทผอ.สนพ.

ในขณะที่ นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และนาย วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ต่างอยู่ในตำแหน่งเดิม และได้รับการต่ออายุรวมเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งถึงเวลาเหมาะสมในการหมุนเวียนไปนั่งตำแหน่งใหม่​ จึงจะมีการโยกย้ายในคราวเดียวกันหลายตำแหน่ง เพื่อให้การทำงานขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ไปสู่การปฏิบัติ ทำงานประสานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้นกับปลัดกระทรวงที่แต่งตั้งใหม่​ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนใหม่​ ส่วนผู้ที่มีการคาดหมายว่าจะได้ขยับจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง​ จะมีแคนดิเดทด้วยกัน​ 2​ คน​ ระหว่าง​ นายสมภพ​ พัฒนอริยางกูล​ กับ​ นายโกมล​ บัวเกตุ

สมภพ​ พัฒนอริยางกูล​ (ซ้าย)​ โกมล​ บัวเกตุ​ (ขวา)​แคนดิเดท​ ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะชิงขยับจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการ

โดยนโยบายรัฐบาลด้านพลังงานที่นาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา คือการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที ซึ่งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ย.2566 ได้มีมติเห็นชอบปรับลดราคาน้ำมันดีเซล ลงเหลือไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 20 ก.ย.2566 การปรับลดค่าไฟฟ้าลงจาก 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย ให้มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือน ก.ย. นี้
นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การเร่งเจรจาเพื่อหาทางพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ภายใต้กลไกตลาด

พีระพันธุ์​ สาลี​รัฐ​วิภาค​ รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​พลังงาน
ประเสริฐ​ สินสุข​ประเสริฐ​
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์​ ยังต้องลุ้น​แต่งตั้ง​เป็นผู้ว่าการ กฟผ.​คนใหม่​

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ที่ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กโก้กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กฟผ. ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2566 ก่อนที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะประกาศยุบสภา ในวันที่ 20 มี.ค. 2566 ซึ่งมีระยะเวลาเหลือเพียงพอที่จะเสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบ แต่งตั้ง และกระทรวงพลังงานได้มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 2 พ.ค.2566 ที่อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ซึ่งต้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้ความเห็นชอบด้วย โดยเมื่อ กกต.มีความเห็นว่า ควรให้ ครม.ในรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งก็คือรัฐบาลเศรษฐา เป็นผู้แต่งตั้ง จึงเป็นอำนาจของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้นำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธุ์ ได้ตอบคำถามเรื่องการแต่งตั้ง ตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.ในวันที่เข้าทำงานที่กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 ว่ายังไม่ใช่เรื่องที่เร่งด่วน

ทั้งนี้ในการแต่งตั้ง ตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. หาก นายพีระพันธุ์ ต้องการที่จะแต่งตั้งให้ นายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ ก็สามารถที่จะนำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ ได้ทันที แต่หากต้องการที่จะแต่งตั้งบุคคลอื่น ก็จะต้องให้บอร์ด กฟผ. นำเสนอชื่อแคนดิเดท ผู้ว่าการ กฟผ. ที่มีคะแนนรองลงมา ให้พิจารณา หรือยกเลิกกระบวนการสรรหาเดิม แล้วเริ่มต้นกระบวนการสรรหากันใหม่ ซึ่งจะทำให้ นายเทพรัตน์ ขาดคุณสมบัติ ที่จะเข้ารับการสรรหาอีกครั้งเนื่องจาก นายเทพรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2508 จึงมีอายุเกิน 58 ปี ในวันที่ยื่นใบสมัคร
ปัจจุบันตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. บอร์ด กฟผ. ได้แต่งตั้งให้นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการอาวุโส สังกัดผู้ว่าการ เป็นรักษาการผู้ว่าการ กฟผ . ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่นายณัฐวุฒิ จะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2566 นี้ จึงต้องมีการแต่งตั้งรักษาการผู้ว่าการ​ กฟผ.คนใหม่อีกครั้ง จนกว่า ครม.จะให้ความเห็นชอบผู้ว่าการ กฟผ.ที่ผ่านการสรรหาจากบอร์ด กฟผ. ซึ่งจะมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการองค์กร

ณัฐวุฒิ​ แจ่มแจ้ง​ (ซ้าย)​ ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน​ (ขวา)​
ชูศรี เกียรติขจรกุล (ซ้าย)​ นพวรรณ กาญจนะวรรณ (กลาง)​ กิตติ เพ็ชรสันทัด​ (ขวา)​

สำหรับผู้บริหาร กฟผ.ในระดับรองผู้ว่าการคนอื่นๆที่จะเกษียณอายุด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย นาย​ ประเสริฐ​ศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงาน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นางสาว นพวรรณ กาญจนะวรรณ รองผู้ว่าการบริหาร และนาย กิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง ซึ่งตำแหน่งดังกล่าว ต้องรอ ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ มาพิจารณาแต่งตั้ง ระดับผู้ช่วยผู้ว่าการ ขึ้นมาทดแทน

Advertisment

- Advertisment -.