“ค่ายทะเล” ผู้สร้างนักอนุรักษ์ฯ ระบบนิเวศแห่งท้องทะเล

40
- Advertisment-

ปิดฉากปีนี้ไปแล้วอย่างน่าประทับใจสำหรับค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลครั้งที่ 32 ที่จัดขึ้นช่วงวันที่ 8 มีนาคม – 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ในเชิงคุณภาพถือได้ว่าค่ายแห่งนี้คือเส้นทางสำคัญแห่งการก้าวไปสู่การเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมืออาชีพที่จะสร้างคุณประโยชน์ต่อวงการได้ในอนาคต ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทการเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือบทบาทในภาคประชาชน

ในมุมมองของต่างประเทศนั้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics) ชี้ให้เห็นว่าอาชีพนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มีแนวโน้มเติบโตถึง 7% ในช่วงปี 2023-2033 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของหลายอาชีพ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบุคลากรเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต

หันกลับมามองประเทศไทย ดินแดนซึ่งมีหาดทรายสวยทอดยาวทั้งในฝั่งทะเลอ่าวไทยภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดตราด จรดภาคใต้ ถึงจังหวัดนราธิวาส และฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองไปจนถึงจังหวัดสตูล มีเกาะน้อยใหญ่หลายแห่ง ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว จากทั่วทุกมุมโลกให้อยากมาเยือน เพราะมีจุดดำน้ำชมปะการังและปลาทะเลสีสันสวยงามนานาชนิด จึงเป็นโจทย์และความพยายามของบรรดานักอนุรักษ์ฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนและภาคประชาชนที่จะร่วมกันคิดและลงมือทำว่าจะช่วยรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนช่วยกันรักษาและร่วมใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์นี้ได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร?

- Advertisment -

หนึ่งในความพยายามปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ด้วยการเพิ่มองค์ความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเป็นระบบ คือการจัดค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมมือของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลก ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งนับจนถึงปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านการอบรมจากค่ายนี้แล้วว่า 950 คน โดยค่ายครั้งที่ 32 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมค่ายจำนวน 68 คน จาก 19 มหาวิทยาลัย ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดทั่วประเทศ

โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2568 ทางผู้จัดค่ายออกแบบให้เป็นการเติมความรู้ทางทฤษฎี ในรูปแบบออนไลน์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งที่เป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มาบรรยายให้ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานแนวคิดที่ครอบคลุมโครงสร้างและหน้าที่ของระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาและจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายระดับชาติและสถานการณ์ต่างๆ

ส่วนในภาคปฏิบัติ จัดขึ้นระหว่างวันที่  20 – 28 เมษายน 2568 ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต นั้นทางผู้จัดได้คัดเลือกผู้เข้าค่ายจำนวน 20 คน จาก ทั้งหมด 68 คนเข้าร่วมกิจกรรม โดยเน้นการศึกษาภาคสนามของจริงในทะเล อาทิ การเยี่ยมชมป่าชายเลน และการทดลองใช้เครื่องมือทันสมัยต่างๆ การลงเรือสำรวจเพื่อปฏิบัติการศึกษาทางสมุทรศาสตร์ โดยใช้เครื่องมือทันสมัยต่างๆ การดำน้ำศึกษาระบบนิเวศปะการัง

ส่วนหนึ่งของกิจกรรมภาคสนามที่เกาะเฮ

หนึ่งในกิจกรรมภาคสนามที่น่าสนใจ ซึ่งผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) ได้มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์ด้วย ก็คือการเดินทางไปยังเกาะเฮ ที่ในภาษามลายูหมายถึงปะการัง และชาวต่างชาติรู้จักในชื่อ Coral Island โดยเหตุผลที่ผู้จัดเลือกพื้นที่เกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต ให้ผู้เข้าค่ายได้ทำกิจกรรมภาคสนาม เพราะเป็นเกาะที่มีการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ค่อนข้างดี มีการวางกฎระเบียบข้อห้ามที่ชัดเจนให้นักท่องเที่ยวได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และยังเป็นเกาะที่สะดวกในการเดินทางโดยอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือฝั่งตัวเมืองภูเก็ต

ซึ่งผลจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของเกาะเฮ ทำให้ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ และนักท่องเที่ยวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้บนเกาะ หาดทรายขาวสะอาดไม่มีขยะ น้ำทะเลใสสีครามเมื่อสะท้อนแสงของท้องฟ้า ปะการังน้ำตื้นที่ยังไม่ถูกทำลาย มีฝูงปลาสวยงามจำนวนมากให้นักท่องเที่ยวได้ใส่อุปกรณ์ดำน้ำดูความงาม และที่น่าตื่นตาตื่นใจบนเกาะนี้ ที่แตกต่างไปจากเกาะอื่นๆ ก็คือการพบเห็นนกเงือกตามธรรมชาติ โดยนกเงือกนั้นจัดเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่หาพบตามธรรมชาติได้ยากเพราะชอบจับคู่อยู่อาศัยในป่าที่สมบูรณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า บนเกาะเฮมีนกเงือกจับคู่อยู่อาศัยกันมากถึง 5 คู่ จึงใช้นกเงือกเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว

นั่งสังเกตการณ์ดูกลุ่มนักศึกษาที่มาร่วมค่าย แบ่งกลุ่มกันทำงานเก็บข้อมูลปะการังกันอย่างกระตือรือร้น ได้ยินเสียงหัวเราะในบางช่วง จนได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนผู้เข้าค่ายระหว่างพักกลางวัน จึงได้ทราบว่าค่ายแห่งนี้ไม่จำเป็นจะต้องรับคนที่มีความรู้เรื่องการอนุรักษ์ทะเลมาก่อนแต่ขอให้เป็นคนที่มีความสนใจจริง มีความใฝ่รู้ และมีใจรักในท้องทะเลเป็นใช้ได้

“แจ๊ก” กิตติพัฒน์ ใจกาวิล ซึ่งเรียนระดับปริญญาโท หลักสูตรโลกศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้เข้าค่ายที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศทางทะเลมาก่อน  ความรู้ใหม่ๆ ที่น้องแจ๊กได้รับจากค่ายแห่งนี้และเพื่อนใหม่ที่ได้รู้จัก ที่รักในทะเลจึงเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจอย่างมาก

ส่วน “นัทถั่ว” ณัฐญาดา ถั่วสวัสดิ์ สาวผู้พกพาความสดใสจาก คณะสิ่งแวดล้อม ปริญญาโท สาขาการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ บอกว่าต้องการมาค่ายนี้ด้วยใจที่รักในท้องทะเลไทยและอยากจะผสานความรู้ที่เรียนมาด้านจุลชีววิทยาในระดับปริญญาตรีเข้ากับความรู้ที่ได้รับใหม่ทั้งทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจากค่ายและต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหนในอนาคต

“นัชชา” นัชชา ปันทะนัน  สาวแกร่ง ชั้นปีที่ 4 เอกวิทยาศาสตร์การประมง สาขาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่าอยู่ภาคเหนือไม่ติดทะเลได้เรียนเฉพาะสัตว์น้ำจืด มีความสนใจที่จะเรียนรู้สัตว์ทะเล จึงสมัครมาค่ายด้วยความอยากได้ความรู้ที่เพิ่มเติมครอบคลุมมากขึ้น

สำหรับ “ไตเติ้ล” ธีรเมธ ดับปาล หนุ่มน้อยชั้นปีที่ 3 ที่เรียนในสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเเละนวัตกรรมดิจิทัล สาย data sci มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นั้นบอกว่ามีแรงบันดาลใจจากโปรเจกต์ที่ทำระหว่างเรียน ซึ่งไม่ได้จำกัดตัวเองให้มีความรู้เฉพาะด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่อยากจะได้ความรู้ด้านระบบนิเวศทางทะเลจากค่ายมาประยุกต์เติมเต็มให้เป็นความรู้ด้าน marine data science ที่เป็นสาขาที่เขาได้รับทุนให้ไปเรียนต่อที่ประเทศจีนในเดือนกันยายนปีนี้

สิ่งหนึ่งที่ตัวแทนนักศึกษาสะท้อนภาพให้เห็นถึงประโยชน์ของการมาเข้าค่ายร่วมกันครั้งนี้ที่น่าสนใจคือ บรรยากาศของความเป็นค่ายที่ลงพื้นที่ภาคสนามร่วมกันนั้นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้การทำงานด้วยกันเป็นทีม ที่ช่วยให้เกิดมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม และการที่ได้รู้จักคุ้นเคยกันก็เกิดเป็นมิตรภาพที่งอกงาม ทำให้จากนี้เพื่อนร่วมค่ายทุกคนยังมีช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ อย่างไรก็ตามหลายคนบ่นว่า เวลาที่ได้อยู่ร่วมกันในค่ายนั้นสั้นเกินไป เพราะพอกำลังจะสนิทกันก็ต้องลาจากกันแล้ว

เผ่าเทพ เชิดสุขใจ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน

ในมุมมองของผู้ที่มีส่วนร่วมผลักดันค่ายครั้งนี้อย่าง เผ่าเทพ เชิดสุขใจ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ฉายภาพกว้างให้เห็นถึงความคาดหวังต่อผู้ที่ผ่านค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ซึ่งจะมีบทบาทต่อการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยในอนาคตว่า

“ทะเลมีคุณูปการมหาศาลต่อมวลมนุษย์ เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งกำเนิดพลังงาน แหล่งพึ่งพาด้านอาชีพ เช่น การท่องเที่ยว การประมง ซึ่งสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจมากมาย เมื่อเราใช้ประโยชน์จากทะเลในทุกมิติ ปัญหาก็มีตามมามากมาย เห็นได้จากภาวะความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น การดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น ไม่สามารถทำได้โดยภาครัฐเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อระดมสรรพกำลังในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การจัดค่ายนี้ จึงนับเป็นการสร้างมวลชนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถตามหลักวิชาการ มาช่วยผลักดันการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

เผ่าเทพ กล่าวต่อด้วยว่า ในสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเล มีสมาชิกจํานวนมากที่จบจากค่าย แล้วก็ยังทํางานอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเลของไทย และในระดับโลก เราพบว่า ในวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทุกๆ 2 ปี จะมีการประชุมสํานักวิชาการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งเราจะเจอนักวิจัยรุ่นใหม่ และรุ่นเก่าๆ จํานวนมากที่จบจากค่ายนี้ และก็นําเสนอผลงาน รวมถึงบางคนก็ทราบข่าวคราวว่า ไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วกลับมาทํางานในเมืองไทย หรือทํางานต่อที่อื่น ในแต่ละรุ่นเขาก็จะมีการนัดคุยกัน นัดพบปะสังสรรค์กัน หรือว่ายังทํางานร่วมกันก็มี ในวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเล เราถือว่าทะเลมันเป็นผืนเดียวกัน และเราทํางานเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก เราไม่จําเป็นต้องแบ่งแยกทะเล นักวิจัยเวลาทํางานแล้วจะทํางานร่วมกันในแบบ global เพราะว่าผลกระทบจากที่หนึ่ง มันส่งผลต่ออีกที่หนึ่ง อย่างที่เห็นชัดเจนโดยเฉพาะนี้คือเกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกรวน พอมันเกิดขึ้นมา ก็เกิดผลกระทบต่อไปทั้งโลกเลย เพราะว่าทะเลเรา โลกเราก็เป็นผืนเดียวกัน เพราะฉะนั้นตัวค่ายนี้ มันก็เป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตทรัพยากรบุคคล นักวิจัยทางทะเลใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วก็มาทํางานให้กับประเทศไทย แล้วก็โลกใบนี้

พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

ส่วนเบื้องหลังการสนับสนุนค่ายที่สำคัญ คุณพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หรือ พี่แป้ง กล่าวถึงประเด็นที่ทำให้บริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลกมาสนับสนุนค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลอย่างต่อเนื่องว่า “เชฟรอนเป็นบริษัทพลังงาน ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของคน ซึ่งเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมองค์กรที่ต่อยอดไปสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งการสนับสนุนด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชฟรอนได้ให้การสนับสนุนการจัดค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อนมาตลอดกว่า 3 ทศวรรษ เพราะเล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของค่ายในการวางรากฐานการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ท้องทะเลอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังช่วยผลักดันให้เกิดเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมนำองค์ความรู้ไปใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลต่อไป ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฟรอนไม่ได้สนับสนุนแค่ด้านงบประมาณ แต่เรายังทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อพัฒนาค่ายให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียมและโลจิสติกจากเชฟรอนมาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่น้องๆ ด้วย”

ดร. สืบพงศ์ สงวนศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ในขณะที่ศิษย์เก่าค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลรุ่นที่ 13  ดร. สืบพงศ์ สงวนศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ให้มุมมองความประทับใจที่เคยได้รับจากค่ายว่าการได้เรียนกับผู้สอนซึ่งเป็นผู้ที่ก่อตั้งค่ายนี้คือ ดร.ปิติวงษ์ ตันติโชดก ทำให้เรายิ่งมีความรู้ทางทะเลเพิ่มมากขึ้น มีความรักแล้วก็เข้าใจทะเลมากขึ้น และก็ประทับใจมาจนถึงวันนี้ เพราะค่ายนี้มีความเข้มข้นทางวิชาการเป็นการเรียนการสอนที่แตกต่างจากการเรียนปกติ แบบที่ว่าเช้าบรรยายเกี่ยวกับเรื่องใดๆ ก็ตาม พอตอนบ่ายเราจะได้ลงทะเลเลย ไปดูเลยว่าของจริงเป็นอย่างไรบ้าง เป็นอย่างที่เรียนมาจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นข้อได้เปรียบมากสำหรับคนที่รักทะเลและอยากจะเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับทะเล

“ค่ายนี้ได้ผลิตศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว และก็ทำงานทางทะเลเยอะมากทั่วประเทศนะครับทุกคนที่เคยเข้าร่วมค่ายก็อยากที่จะกลับมามีส่วนร่วม มาช่วยน้องๆ มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ นี่คือสิ่งที่ทุกคนคงรู้สึกร่วมกันอยู่แล้ว” ดร.สืบพงศ์ กล่าวถึงความรู้สึก

รศ.ดร.ลักษณ์นารา ขวัญชุม รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.ลักษณ์นารา ขวัญชุม รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ค่ายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นเรื่องจริง เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ผู้เข้าค่ายได้ศึกษาแล้วก็รู้ว่าอะไรจริง ควรที่จะไปในแนวทางไหน ทิศทางในการอนุรักษ์เป็นอย่างไร หรือว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุณหภูมิที่สูงขึ้น เรื่องโลกร้อน เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเรื่องของขยะ มันมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทะเล และชายฝั่งอย่างไร รวมถึงในเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องเล่า หรือว่าเป็นเรื่องที่ได้ยินกันมา แล้วเด็กๆ ได้มาเห็น และสัมผัสกับประสบการณ์ จึงมองว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี

ทั้งนี้ค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลที่มีการจัดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะสามารถเห็นแนวโน้มของเด็กๆ ที่มาร่วมค่ายแล้วเค้าออกไปทําอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศให้กับโลกใบนี้ จะเป็นเครือข่ายต่อไป อย่างมหาวิทยาลัยที่เน้นในเรื่องของความยั่งยืน แต่ในทางปฏิบัติ เรายังต้องอาศัยภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาร่วม อย่างบริบทของเชฟรอนเองที่เราถือว่า เป็นบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ ที่ให้ความสําคัญกับโลกให้ความสําคัญกับสิ่งแวดล้อม ต่อไปในอนาคต หากได้มีการสนับสนุน ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และมหาวิทยาลัย จับมือไปด้วยกัน ก็จะเป็นการตอบโจทย์ของโลก ของเทรนด์สิ่งแวดล้อมด้วย

ในมุมของผู้สังเกตการณ์เชื่อมั่นว่า แม้ว่าค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลครั้งที่ 32 จะจบไปแล้ว แต่การจัดค่ายในปีต่อๆ ไป ยังจะเป็นดังขุมพลังความรู้ที่สร้างประโยชน์ต่อเยาวชนที่มีใจอนุรักษ์ฯและรักในท้องทะเลมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดการเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวเครือข่ายเชิงคุณภาพของคนที่ทั้งมีใจรักและมีองค์ความรู้ จะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้การใช้ประโยชน์จากท้องทะเลของทุกภาคส่วนนับแต่นี้ต่อไปเป็นไปอย่างถูกทิศทางและยั่งยืนมากกว่าที่จะปล่อยไป โดยไม่มีใครพยายามจะคิดทำอะไรเลย

Advertisment