บทพิสูจน์ 6 ปี ปะการังเทียมขาแท่น ชาวพะงัน ได้ประโยชน์จริงหรือ?

- Advertisment-

เมื่อเร็วๆนี้ ทาง สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นำคณะสื่อมวลชน จากกรุงเทพฯ ลงพื้นที่ไปติดตามผลการดำเนินโครงการจัดวางปะการังเทียมจากโครงสร้างจำลองขาแท่นปิโตรเลียม ที่บริเวณ อ่าวโฉลกหลำ  อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมพูดคุยสัมภาษณ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

โดยโครงการจัดวางปะการังเทียมจากโครงสร้างจำลองขาแท่นปิโตรเลียม ดังกล่าวสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีการลงนามบันทึกข้อตกลง กันตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 เพื่อศึกษาวิจัยทดลองการจัดสร้างปะการังเทียมที่ทำจากโครงสร้างเหล็กเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรสัตว์น้ำ ลดปัญหาการรุกล้ำชายฝั่งของเรือประมงผิดกฎหมาย  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ผู้ประกอบธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในประเทศไทย 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท มิตซุยออยล์เอ็กซ์โปลเรชั่น จำกัด, บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ จำกัด, บริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) หรือ โคสตัล เอนเนอยี่ จำกัด, บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด จำกัด, บริษัท เฮสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด

คุรุจิต นาครทรรพ ผอ.สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเลอ่าวไทย ทำให้มีสิ่งติดตั้งที่ใช้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลเป็นจำนวนมากถึง 464 แท่น (ข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พ.ค. 2561) และเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทาน แท่นเหล่านี้อาจต้องได้รับการรื้อถอนตามกฏหมาย โดยประสบการณ์ในต่างประเทศ มีการนำเอาขาแท่นผลิตปิโตรเลียมมาทำเป็นปะการังเทียมที่ค่อนข้างได้ผล ดังนั้นทางสถาบันฯ จึงได้ริเริ่มโครงการศึกษาความเป็นไปได้ โดยการสร้างโมเดลจำลองขาแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่ใช้วัสดุที่เป็นเหล็กคาร์บอนเช่นเดียวกับขาแท่นจริง แต่มีขนาดที่เล็กกว่า คือประมาณ 12 คูณ 12 เมตร สูง 8 เมตร จำนวน 4 แท่น น้ำหนักประมาณ 50-75 ตัน มาจัดวางบริเวณอ่าวโฉลกหลำ ที่ระดับความลึก18-20 เมตร

- Advertisment -

ทั้งนี้ในการติดตามและประเมินผลด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อเดือน ก.ย. 2556 จนถึงปัจจุบัน เกือบ 6 ปี พบว่าการดำเนินโครงการปะการังเทียมจากโครงสร้างจำลองขาแท่นผลิตปิโตรเลียมนั้น เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เป็นอย่างดี สามารถป้องกันการทำประมงที่ผิดกฏหมายจากเรืออวนลาก อวนรุน อย่างได้ผล อีกทั้งยังพบว่าที่พื้นผิวโครงสร้างเหล็กมีปะการังเทียมและสัตว์เกาะติดหนาแน่น อาทิ ฟองน้ำ สาหร่ายท่อ เพรียงหิน เพรียงภูเขาไฟ  แพลงก์ตอนพืช แพลงตอนสัตว์ ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร และมีปลาอย่างน้อย 24 ชนิด อาศัยบริเวณแนวปะการัง ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

“การที่โครงการปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่ทางสถาบันปิโตรเลียมฯ ได้ดำเนินการมาเป็นที่ยอมรับจากชาวชุมชนโฉลกหลำและสังคม ว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้เพิ่มมากขึ้น และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่ออุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมว่าวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ในการทำปะการังเทียมในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นขาแท่นผลิตปิโตรเลียมของจริง ที่จะได้มาจากการรื้อถอนนั้นจะไม่ส่งผลกระทบและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยขณะนี้การนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาจัดวางเป็นปะการังเทียม จำนวน 8 ขาแท่น บริเวณเกาะพะงัน อยู่ระหว่างกระบวนการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” นายคุรุจิต กล่าว

ทั้งนี้ในการเลือกจุดจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่นดังกล่าวนั้น ว่าจะเป็นจุดใดนั้น ทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวน 6 พื้นที่ โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์แหล่งปะการังเทียม ความเป็นไปได้ทางเทคนิควิศวกรรม ซึ่งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เห็นว่าบริเวณเกาะพะงัน มีความเหมาะสมในระยะแรก เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการใช้ประโยชน์หลายๆ ด้าน  โดยจุดที่วางจะมีขนาดพื้นที่ 2 คูณ 2 ตารางกิโลเมตร ที่ระดับน้ำลึก 37-41 เมตรจากระดับน้ำลงต่ำสุด ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ลึกเพียงพอกับการวางขาแท่นผลิตปิโตรเลียมจริง และห่างจากฝั่งประมาณ 8 ไมล์ทะเลจากเกาะพะงัน และ 7 ไมล์ทะเลจากหินใบ ทั้งนี้บริเวณดังกล่าว ทั้งเกาะสมุย เกาะพะงัน สามารถที่จะใช้ประโยชน์ในการเป็นยุทธศาสตร์ดึงการท่องเที่ยวและดำน้ำที่สำคัญของประเทศไทยได้

 

พงศักดิ์ หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านโฉลกหลำ (คนกลาง)

ด้าน นายพงศักดิ์  หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านโฉลกหลำ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านพยายามที่จะจัดหาวัสดุต่างๆ เช่น ยางรถยนต์ แท่งซีเมนต์ ท่อพีวีซี มาจัดวางเป็นแนวปะการังเทียมอยู่แล้ว โดยวัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน ที่เข้ามาทำประมงในบริเวณอ่าวโฉลกหลำ และทำให้ปลาเศรษฐกิจเหลือน้อย ชาวประมงพื้นบ้านทำมาหากินลำบาก ซึ่งเมื่อมีโครงการทำปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กที่จำลองแบบจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียม มาจัดวางในบริเวณอ่าวโฉลกหลำ ห่างจากฝั่ง 2 ไมล์ทะเล เบื้องต้นชาวบ้านก็คิดว่าจะมีประโยชน์เฉพาะการป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน ได้ดีกว่าเดิมเท่านั้น ซึ่งก็ได้ผลตามวัตถุประสงค์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5-6 ปี ชาวบ้านเริ่มเห็นชัดว่า ปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กนั้นมีความแข็งแรง คงทนกว่าปะการังเทียมจากวัสดุประเภทอื่น เป็นประโยชน์อย่างมากในการป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน เป็นบ้านขนาดใหญ่ของปลาและสัตว์น้ำต่างๆ มีปลาเศรษฐกิจเพิ่มจำนวนขึ้นมาก และกลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาดำน้ำ หากมีการวางปะการังเทียมจากขาแท่นจริงในบริเวณนี้ ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชาวชุมชนเกาะพะงันเป็นอย่างมาก

ด้าน นายประเสริฐ คงขน ประมงอำเภอเกาะพะงัน กล่าวว่า ชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะพะงัน มีเรืออยู่ประมาณ 300 ลำ เรือประมงพาณิชย์ขนาดเล็ก 10 ลำ ซึ่งได้รับความเดือนร้อนจากเรือประมงพาณิชย์ ขนาดใหญ่ ประเภทเรืออวนลาก อวนรุน ที่กวาดเก็บปลาขนาดเล็กไปจนหมด โดยเมื่อมีการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กจำลองขาแท่นผลิตปิโตรเลียมบริเวณอ่าวโฉลกหลำ 4 แท่น ก็ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านหาปลาได้ง่ายมากขึ้น เพราะหากป้องกันเรือพาณิชย์เข้ามาแย่งปลาจากเรือประมงพื้นบ้านได้สัก 8 เดือน ปลาและสัตว์น้ำเศรษฐกิจต่างๆ ก็มีเวลาเพียงพอที่จะฟื้นปริมาณให้เพิ่มขึ้น

Mr. Stefan follows สถาบันคอร์ซี (Core Sea) ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

Mr. Stefan follows สถาบันคอร์ซี (CORESea) ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมีที่ทำการอยู่บนบริเวณอ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน กล่าวว่าหลังจากวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กบริเวณอ่าวโฉลกหลำ คอร์ซี ได้เข้าไปติดตามพบว่า มีปะการังอ่อนมาเกาะเต็มไปหมด มีแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน และลูกปลาวัยอ่อน ถือว่ามีความหลากหลายของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณปะการังเทียม ปลาที่เคยหายไปก็กลับมา โดยปีที่ผ่านมาพบปลามาอาศัยอยู่มากถึง 24 ชนิดด้วยกัน

ไพฑูล แพนชัยภูมิ ผอ.ส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล

นายไพฑูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า รัฐควรจะต้องมองเศรษฐกิจในภาพรวมว่า ปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียม จะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อชาวเกาะพะงัน ที่จะเป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ที่เป็นที่รู้จักของคนที่ชื่นชอบการดำน้ำจากทั่วโลก และจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมากให้กับคนที่อยู่บนเกาะพะงัน ในแต่ละปีจากเดิมที่นักดำน้ำชอบไปที่เกาะเต่า ซึ่งอยู่ใกล้กันและเริ่มมีความแออัดมาก ทั้งนี้การวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นผลิตปิโตรเลียมนั้น เป็นที่ยอมรับกันในทางสากลว่าสร้างประโยชน์ในการฟื้นฟูทรัพยากรให้กับท้องทะเล และการที่ไทยมีแท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวนมากที่จะได้รับการรื้อถอนในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มีปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในการฟื้นฟูทรัพยากรท้องทะเลอ่าวไทย ที่นับวันจะเริ่มเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ

จันทร์โชติ  พิริยะสถิตย์ ผู้จัดการ บริษัท โลตัสไดว์วิ่ง จำกัด ศูนย์ฝึกสอนนักดำน้ำบนเกาะพะงัน

ขณะที่ นายจันทร์โชติ  พิริยะสถิตย์ ผู้จัดการ บริษัท โลตัสไดว์วิ่ง จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นผลิตปิโตรเลียม จะทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำแห่งใหม่ที่สำคัญ และยังช่วยลดจำนวนนักดำน้ำออกจากพื้นที่ปะการังธรรมชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ผมสนับสนุนการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมมาวางเป็นปะการังเทียม ในจุดที่อยู่ไม่ไกลจากหินใบ และเดินทางจากฝั่งไปถึงโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงนั้น จะเป็นการสร้างจุดดำน้ำแห่งใหม่ที่น่าสนใจ และเชื่อว่าจะช่วยแบ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเกาะพะงันเพื่อจะมาดำน้ำที่หินใบได้ โดยปัจจุบันการที่นักท่องเที่ยวมาดำน้ำที่หินใบในจำนวนที่มากเกินไปนั้น ส่งผลกระทบต่อปะการังธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ”  นายจันทร์โชติ กล่าว

เสียงสะท้อนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก ที่จำลองขาแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่เห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า โครงการที่ดำเนินการมาได้ 6 ปีนั้น ได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านโฉลกหลำ เกาะพะงัน ทั้งในแง่ของการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ระบบนิเวศ และรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ก็น่าจะช่วยให้ภาครัฐตัดสินใจได้ง่ายขึ้นกับการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมจริง ที่จะได้จากการรื้อถอนมาสร้างประโยชน์ในรูปของปะการังเทียมให้ขยายวงกว้างขึ้น เพื่อคนไทยและท้องทะเลอ่าวไทยในอนาคตอันใกล้นี้.

บางทิวทัศน์ของอ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน
ปลาโลมาสีชมพู ว่ายน้ำโชว์นักท่องเที่ยวระหว่างนั่งเรือไปเกาะพะงัน
Advertisment