กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เล็งเปิดให้ยื่นสำรวจปิโตรเลียม 9 แปลงบนบก รอบ 25 คาดเสนอ ครม.ไตรมาสแรก 2567

- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมเปิดให้ยื่นสำรวจปิโตรเลียมแปลงบนบก รอบที่ 25 จำนวน 9 แปลง คาดเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 นี้ หวังช่วยเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทยต่อเนื่อง

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2567 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เตรียมการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) เพื่อส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศ เบื้องต้นคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 นี้ ก่อนเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้ายื่นสำรวจต่อไป

อย่างไรก็ตามในปี 2567 นี้ กรมฯ ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการเร่งรัดการลงทุนและให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องของแหล่งในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน

- Advertisment -

นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS/CCUS) ทั้งด้านเทคนิค กฎหมาย มาตรการเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงฯ ระบุว่า การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25 จะครอบคลุมพื้นที่ 9 แปลง คือ บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง และบริเวณพื้นที่ภาคกลางจำนวน 2 แปลง ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2566

โดยพื้นที่สำรวจแบ่งได้ดังนี้ 1.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง รวมพื้นที่ 25,520 ตารางกิโลเมตร 2.ภาคกลาง 2 แปลง รวมพื้นที่ 7,924 ตารางกิโลเมตร

ขณะเดียวกัน กรมเชื้อเพลิงฯ ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดในเชิงลึกของพื้นที่ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อย่างต่อเนื่องถึงแนวทางในการเปิดสำรวจ โดยพื้นที่ปิโตรเลียมดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน

อย่างไรก็ตามการจะเปิดประมูลครั้งนี้อาจเลือกพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาก่อน เพื่อให้ไทยมีทรัพยากรมาบริหารจัดการ สร้างความต่อเนื่องในการจัดหาปิโตรเลียม ที่ปัจจุบันจะเริ่มมีปริมาณน้อยลง เพื่อให้มีเพิ่มขึ้นและเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ ทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง เพราะราคาพลังงานนำเข้าจะสูงกว่ามาก รวมทั้งช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ และยังทำให้เกิดการจัดสรรรายได้ให้แก่ท้องถิ่นด้วย

Advertisment

- Advertisment -.