กฟผ. เปิดตลาดจำหน่ายฮิวมิค วัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองแม่เมาะ

- Advertisment-

กฟผ. เปิดตลาดจำหน่ายฮิวมิค วัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองแม่เมาะ ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนเกษตรกรเข้าถึงผลิตภัณฑ์ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่าย สร้างความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรม

วานนี้ (10 สิงหาคม 2566) นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กฟผ. ร่วมพิธีส่งมอบวัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองแม่เมาะ (ฮิวมิค) ให้แก่ผู้ซื้อ พร้อมให้ข้อมูลคุณสมบัติเชิงลึกและประโยชน์ของฮิวมิค เพื่อสนับสนุนชุมชนและเกษตรกรให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ฮิวมิคในราคาย่อมเยา ณ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร เปิดเผยว่า การทำเหมือง กฟผ. แม่เมาะ จำเป็นต้องเปิดหน้าดินที่ปิดทับถ่านหินลิกไนต์ออก และนำไปทิ้งยังพื้นที่ที่กำหนดไว้ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า หน้าดินดังกล่าวมีชั้นลีโอนาร์ไดต์ (Leonardite) ซึ่งเป็นชั้นดินที่มีอินทรีย์วัตถุสำคัญแทรกอยู่ คือสารประกอบฮิวมิค (กรดฮิวมิค กรดฟูลวิค และฮิวมิน) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกรรมได้หลากหลาย เช่น ใช้ปรับปรุงดินที่เสื่อมสภาพให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก กฟผ. ได้ศึกษาวิจัยกระบวนการคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากลีโอนาร์ไดต์ เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ฮิวมิคแบบน้ำเป็นผลพลอยได้ (By Product) ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ โดยเฉพาะอินทรียวัตถุที่มีปริมาณสูง มีธาตุอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด นอกจากนี้ จากการวิจัยพบว่า ปริมาณธาตุโลหะหนักทุกชนิดมีค่าดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน สามารถใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปรับปรุงดิน การบำบัดน้ำเสีย หรือใช้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้

- Advertisment -

กฟผ. ได้ทดลองตลาดจำหน่ายฮิวมิคแบบน้ำครั้งแรก กว่า 10,000 ลิตร ในราคาลิตรละ 25 บาท ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก เกินกว่าปริมาณที่ กฟผ. เสนอขาย การเปิดขายในรอบแรกนี้ได้จัดสรรให้แก่ผู้ซื้อจำนวน 26 ราย โดย กฟผ. ได้ทยอยส่งมอบตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2566 เป็นต้นมา ทั้งนี้ กฟผ. แม่เมาะ ได้ตั้งโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตฮิวมิคแบบน้ำ ความเข้มข้น 3-5% มีขนาดกำลังผลิตประมาณ 32,000 ลิตรต่อเดือน และยังมีศักยภาพที่จะขยายกำลังผลิตได้มากกว่า 100,000 ลิตรต่อเดือน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตฮิวมิค ถือเป็นการใช้วัตถุพลอยได้หรือของที่ต้องทิ้งจากการทำเหมืองให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จำหน่ายในราคาย่อมเยาเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายทั่วไปในท้องตลาด สอดรับกับปริมาณความต้องการใช้งานฮิวมิคทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละมากกว่า 10% ขณะที่ประเทศไทยมีการนำฮิวมิคมาใช้อย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น จึงถือเป็นการช่วยเหลือชุมชน เกษตรกร ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรมลงได้มาก

Advertisment

- Advertisment -.