- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีเป้าหมายสนับสนุนประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ซึ่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทดแทนยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นรูปธรรมในการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กฟผ. จึงมุ่งสร้างระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Ecosystem ด้วยการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV โดยพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ให้ครอบคลุมทุกการเดินทางของผู้ใช้ EV ภายใต้แบรนด์ EleX by EGAT

กฟผ. เริ่มเปิดให้บริการสถานี EV Charging Station ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้รถ EV และช่วยลดการปล่อย CO2 ทดแทนการใช้รถเครื่องยนต์สันดาปได้กว่า 10 ตันคาร์บอน

- Advertisment -

เล็งขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มตลอดปี 2564-2565 

สำหรับแผนในระยะต่อไป กฟผ. จะขยายจำนวน EV Charging Station เพิ่มขึ้น ทั้งในพื้นที่โรงไฟฟ้าหรือเขื่อนของ กฟผ. และพื้นที่พันธมิตรต่างๆ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล ฯลฯ สนับสนุนการใช้งาน EV และการเดินทางในเส้นทางหลักทั่วประเทศ โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถานี EleX ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ อาทิ เช่น 

  • สถานี EleX by EGAT ที่ดำเนินการร่วมกับสถานีบริการน้ำมัน PT ในเฟสที่ 2 ในช่วงไตรมาส 4/64 เพิ่มขึ้นอีก 6 สถานี และเฟส 3 ในช่วงไตรมาส 1/65 อีก 24 สถานี
  • สถานี EleX by EGAT ที่มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลกรุงเทพ-พัทยา (BDMS) จะเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 64
  • สถานี EleX by EGAT ที่เป็นความร่วมมือกับค่ายรถยนต์พันธมิตร ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเปิดตัวในช่วงปลายปี 2564 และ
  • ความร่วมมือสถานี  EleX by EGAT  กับพันธมิตรอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามกอล์ฟ ร้านอาหาร และพื้นที่จุดเชื่อมต่อการเดินทาง อีกกว่า 40 สถานี ในช่วงปี 2564 – 2565

ซึ่งหากเป็นไปตามแผนการดังกล่าว คาดว่า กฟผ. จะสามารถขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถ EV เป็น 23 แห่ง ภายในปี 2564 นี้ และขยายเป็น 120 แห่ง ในปี 2565

หนุนตอบโจทย์การเดินทางและการขนส่งทุกเส้นทาง

สำหรับการปักธงในธุรกิจสาธารณูปโภคสำหรับการใช้ EV ของ กฟผ. นั้น มุ่งตอบโจทย์ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

1. การใช้ EV เดินทางระหว่างจังหวัด (Highway) ด้วยสถานี EleX by EGAT ในพื้นที่ กฟผ. (จำนวน 7 สถานีในปัจจุบัน) และโปรเจค EleX by EGAT max ร่วมกับสถานีบริการน้ำมัน PT (จำนวน 5 สถานี ในปัจจุบัน)  

2. การใช้ชีวิตด้วย EV ในเมือง (Intown) ด้วยสถานี EleX ที่อยู่ในเขต กทม. และเมืองใหญ่ โดยในปัจจุบันมีสถานีในพื้นที่ กฟผ. สำนักงานใหญ่ และที่ศูนย์การเรียนรู้พระราม 7 รวมถึงสถานี Partner ในสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. จ.เชียงใหม่

3. การขนส่งเชิงพาณิชย์ด้วย EV Transportation / EV Logistic Fleets โดยจะเป็นการสนับสนุนภาครัฐและเอกชน ให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ในการขนส่งมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน fossil และลด CO2 ในภาคขนส่ง รวมถึงสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้ โครงการอยู่ระหว่างการพัฒนา

ชูแอพฯ “EleXA” อำนวยความสะดวกผู้ใช้ EV

กฟผ. ได้พัฒนา Application ภายใต้แบรนด์ “EleXA” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเสมือนผู้ช่วยในทุกการเดินทางด้วยรถ EV ที่จะทำให้การค้นหาสถานี การชาร์จ การจอง และจ่ายเงินของผู้ใช้รถ EV เป็นเรื่องง่าย และยังมีระบบส่งเสริมการขาย โดยการสะสมแต้มแลกสิทธิพิเศษต่างๆ ครอบคลุมทุกความต้องการใน Application เดียว ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถดาวโหลดใช้งานได้ทั้งในระบบ App Store และ Play Store

นอกจากนี้ Application EleXA ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา Function ใหม่ๆ โดยรวบรวมความต้องการของผู้ใช้ EV มาพัฒนา เช่น ระบบวางแผนการเดินทาง (Trip Planner) ระบบจองจุดจอดรถอัจฉริยะในเมือง ระบบการแลกแต้มเพื่อเป็นส่วนลดในผลิตภัณฑ์ของ กฟผ. และพันธมิตรธุรกิจ เป็นต้น โดยจะมีการ Update feature ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวก

กฟผ. ยังประกาศพร้อมเปิดรับพันธมิตรทุกราย ที่ต้องการมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีมาตรฐาน มีระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า ด้วยทีมงานหลังบ้านที่มีความพร้อมทั้งประสบการณ์และความรู้ ให้บริการอย่างใส่ใจและมีมาตรฐาน โดย กฟผ. พร้อมจะสนับสนุนในทุก Solutions เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย                   

Advertisment

- Advertisment -.