กพช. ทบทวนเปิดเสรีก๊าซระยะที่ 2 ช่วย Shipper เอกชนนำเข้า LNG แข่ง ปตท.ได้ดีขึ้น

- Advertisment-

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไฟเขียวทบทวนเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper ) ทุกรายที่นำข้า LNG เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ สามารถนำราคา LNG มาหารเฉลี่ยใน Pool Gas ได้ เพื่อให้ได้ราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าเท่ากัน หวังให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและจัดหานำเข้า LNG กับ​ ปตท. ชี้ทิศทางค่าไฟฟ้างวดต่อไป พ.ค.-ส.ค. 2566 มีแนวโน้มลดลง หลังราคา LNG โลกเหลือ 15-16 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู   

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าได้มีการพิจารณา การทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 โดยที่ประชุม กพช. ได้มีมติ ดังนี้

1. ธุรกิจต้นน้ำ ให้ผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper ) รายเดิมคือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT Shipper และ Shipper ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ สามารถจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG ) ได้ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) กำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจัดหา LNG ตามปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay หรือ สัญญาไม่ซื้อก็ต้องจ่าย

- Advertisment -

2. ธุรกิจกลางน้ำ ให้ Shipper ทุกราย ในกลุ่มที่นำเข้า LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ( Regulated Market) ขายก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่จัดหาได้ให้กับ หน่วยงาน Pool Manager เพื่อนำไปรวมเป็น Pool Gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก Pool Gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า Pool Gas โดยมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ Pool Gas ของประเทศ (Pool Manager) และให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับ Pool Manager

3. ธุรกิจปลายน้ำ ให้ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Pool Manager ในราคา Pool Gas ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่ Shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ และ Shipper ในกลุ่มที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยขายให้ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง (Partially Regulated Market) ให้ขาย LNG ให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติได้โดยตรง

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กกพ. ร่วมกันพิจารณาเพิ่มเติมแนวทางบริหารและกำกับดูแลโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่มีการทบทวนครั้งนี้ ให้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการหลายราย และทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกกลุ่มได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันดังกล่าว

นายกุลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับวงเงินลงทุนโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ของ ปตท. ที่ กพช. ได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 จากเดิมวงเงินลงทุน 11,000 ล้านบาท เป็น 13,590 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในส่วนของพื้นที่และวิธีการวางท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนในการดำเนินโครงการปรับเพิ่มสูงขึ้น และ มอบหมายให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุนโครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการให้ความร่วมมือของ ปตท. ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 วงเงินช่วยเหลือจะอยู่ที่ประมาณ 4,300 ล้านบาท และให้ กฟผ. สามารถนำต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงดังกล่าว ไปใช้ในการลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางข้างต้น โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตามปัจจุบันราคา LNG โลกลดเหลือ 15-16 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จากปลายปี 2565 ที่มีราคาสูงถึงกว่า 40 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งราคาที่ลดลงดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อราคาค่าไฟฟ้าในงวดถัดไป ในเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ได้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กกพ. ได้ให้ใบอนุญาต Shipper แล้วจำนวน 8 ราย และที่ผ่านมาได้เปิดให้ Shipper นำเข้า LNG ได้ตามสัดส่วนความต้องการใช้ LNG ของตัวเอง แต่เนื่องจากราคา LNG ตลาดโลกที่สูงเกินไป จึงไม่มีรายใดสนใจนำเข้า เพราะหากนำ LNG มาผลิตไฟฟ้าจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพง เมื่อเทียบกับ Shipper รายเดิมคือ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ที่ใช้ก๊าซฯในราคา Pool Gas ซึ่งมีราคาถูกกว่า

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันนำเข้า LNG ทาง กพช. จึงกำหนดให้ Shipper รายเดิมและรายใหม่สามารถนำเข้า LNG โดยนำมาหารเฉลี่ยราคารวมกันใน Pool Gas ได้ และจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าทุกกลุ่มเท่ากัน เพื่อให้ Shipper เกิดการแข่งขันที่ต้นทาง คือ ด้านการบริการ ด้านประสิทธิภาพและด้านการนำเข้า เป็นต้น   

ดังนั้นหลังจากนี้ Shipper จะสามารถนำเข้า LNG ได้ตามสัดส่วนความต้องการใช้ LNG ของตัวเองตามหลักเกณฑ์เดิม แต่จะสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เท่ากัน ส่วน Shipper ที่ไม่ได้ใช้ LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ก็สามารถนำเข้า LNG มาใช้เองได้ แต่จะต้องไม่กลับมาใช้ระบบการหารเฉลี่ยราคาใน Pool Gas อีก

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ กกพ.จะกลับไปพิจารณาว่าจำเป็นต้องทำหลักเกณฑ์การกำหนดราคาเฉลี่ยใน Pool Gas ทุกเดือนหรือไม่ หากจำเป็นต้องทำ กกพ. ก็จะเร่งออกหลักเกณฑ์ให้เสร็จโดยเร็วต่อไป      

Advertisment

- Advertisment -.