กกพ.เล็งเคาะ FiTอัตราเดิมโรงไฟฟ้าขยะชุมชน แบ่งรับซื้อเฟสแรก 200 MW ตามลิสต์ มหาดไทย

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่จะกำหนดอัตรา Feed in Tariff หรือ FiTของโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เต็มกรอบเพดานตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย.64 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะแบ่งการรับซื้อไฟฟ้าเป็น 2 เฟสคือ เฟสแรกจะรับซื้อ ตามลิสต์รายชื่อที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือ สถ. เสนอมา จำนวนประมาณ 200 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันราคาเหมือนกรณีของโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจ​ฐานราก ส่วนเฟสสองรอกำหนดหลักเกณฑ์รับซื้อเสนอ กพช.เห็นชอบก่อนออกประกาศ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ การให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 โดย FiT ที่ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ อยู่ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10-50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปีและมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.)เป็นผู้พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินงานแต่ละโครงการ,ต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไปนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้นำมติ กพช.ดังกล่าว เข้าหารือต่อที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีแนวโน้มที่จะกำหนดอัตราFiT ในอัตราสูงสุดตามกรอบที่ กพช.อนุมัติซึ่งเป็นอัตราเดิมที่ภาครัฐเคยใช้มาก่อนแล้ว เหมาะสมกับการลงทุนของผู้ประกอบการที่ใช้คำนวณผลตอบแทนการลงทุนและก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะกันไปล่วงหน้าแล้ว หากมีการปรับลดลงจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน

อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่า หากในที่สุด กกพ.มีมติอนุมัติให้ใช้ FiT ในอัตราสูงสุด ก็ควรจะต้องเพิ่มเงื่อนไขกับผู้ลงทุนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและการสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าให้มากขึ้นด้วย

- Advertisment -

สำหรับปริมาณที่จะต้องมีการรับซื้อตามแผนรวม 400 เมกะวัตต์นั้น มีแนวโน้มที่จะแบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสละ 200 เมกะวัตต์ โดยเฟสแรกจะเปิดรับซื้อเฉพาะโครงการ VSPPและSPP ซึ่งทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือ สถ. กระทรวงมหาดไทยจะส่งรายชื่อเข้ามา โดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันเหมือนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจ​ฐานราก

สำหรับเฟสสองที่เหลืออีกประมาณ 200 เมกะวัตต์
จะต้องรอให้กระทรวงพลังงานกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจน และนำเสนอให้ที่ประชุม กพช.ให้ความเห็นชอบก่อน จากนั้นทาง กกพ.จึงจะออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าและเปิดรับซื้อได้ตามขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า โครงการที่ทาง สถ.จัดทำเป็นลิสต์โครงการเอาไว้ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าประเภทVSPP ขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ จำนวน 26 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 187 เมกะวัตต์ โดยเอกชนที่มีโครงการอยู่ในมือมากที่สุดคือ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 8 โครงการกำลังการผลิตรวม 52.7เมกะวัตต์ รองลงมาคือกลุ่มเมโทร เอ็นเนอยี่ 3 โครงการ กำลังการผลิต รวม 23.2 เมกะวัตต์ กลุ่มบริษัทท่าฉาง อุตสาหกรรม 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 22 เมกะวัตต์

Advertisment

- Advertisment -.