หยุด!ตำนานตรึงดีเซล 30 บาท เลิกอุดหนุนดีเซลพรีเมียม เซฟกองทุนน้ำมันฯ

841
- Advertisment-

การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ดำเนินมานานกว่าทศวรรษแล้ว โดยที่ภาครัฐเองก็ยังหาที่มาของตัวเลขอ้างอิงนี้ไม่ได้ว่า ทำไมต้อง 30 บาท มีเพียงเหตุผลที่อ้างต่อๆ กันมาว่า เป็นเรื่องของนโยบายที่ไม่ต้องการให้กระทบต่อประชาชน เพราะน้ำมันดีเซล มีคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจหลายภาคส่วนที่ไม่ควรไปแตะต้อง อันจะไปกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น กระทบต่อภาคขนส่งทั้งรถบรรทุก และรถโดยสาร ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุกรัฐบาลจะพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ตัวเลข 30 บาทนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าหยุดเพิ่มขึ้นได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากราคาดีเซล อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบ ราคาปุ๋ย ปูนซิเมนต์ สารเคมี เนื้อสัตว์ รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำด้วย

แต่ผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นมาแล้วเดือนกว่าๆ เป็นเสมือนตัวเร่งให้แนวทางการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลในประเทศกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ฉะนั้นการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้คงที่ 30 บาท/ลิตรในระยะยาว จะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นกลไกหลักในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศเมื่อเกิดวิกฤต กำลังจะวิกฤตตามไปด้วย

- Advertisment -

การประกาศดีเดย์ 1 พฤษภาคม 2565 เพื่อทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น จึงเป็นทางออกให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันติดลบกว่า 50,000 ล้านบาทได้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งตามมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนของรัฐบาล จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตรถึงเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือที่เรียกกันว่า กบน. จะเป็นผู้พิจารณาว่า จะอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่เท่าไหร่ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันดีเซลเกินลิตรละ 30 บาท

ที่สำคัญ นอกจากการทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลแล้ว สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ร่วมกับกรมธุรกิจพลังงาน กรมสรรพสามิต ได้วางแนวทางแยกการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม ออกจากการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมประมาณ 1.41 ล้านลิตร/วัน

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 17 เมษายน 2565 ติดลบ 50,614 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 19,332 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 31,282 ล้านบาท      

   

Advertisment