นักวิชาการเสนอรัฐผลักดันโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายเข้านิคมอุตสาหกรรม

480
- Advertisment-

นักวิชาการเสนอรัฐผลักดันโรงงานที่มีสารพิษอันตรายเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม พร้อมให้รัฐเข้มงวดการบังคับใช้กฏหมายและซ้อมแผนรับมืออุบัติภัยอย่างจริงจัง และนำมาใช้ทันต่อสถานการณ์ หลังสอบตกกรณี “อุบัติภัยหมิงตี้” รวมทั้งมีระบบฐานข้อมูลในการระดมความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อมทั้งบุคลากรและอุปกรณ์กรณีไฟไหม้สารเคมี โดยเฉพาะ

เจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2564 กลุ่มอุตสาหกรรม​การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “สังคมจะอยู่อย่างไร หลังไฟไหม้​สารเคมีครั้งใหญ่ ในเขตเมือง” จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้สารเคมีที่โรงงาน บริษัทหมิงตี้เคมิคอล จำกัด ย่านกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2564 ซึ่งนับเป็นอุบัติภัยครั้งใหญ่ที่สะเทือนขวัญคนทั้งประเทศ โดยมีนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญประกอบด้วย รศ.ดร.เกษมสันต์​ มโนมัยพิบูลย์​ อาจารย์​ประจำบัณฑิตวิทยาลัย​ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี​พระ​จอมเกล้า​ธนบุรี​ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโมเดลอากาศ ผศ.ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ ผู้เชี่ยวชาญ​ด้าน​วิศวกรรม​สิ่ง​แวดล้อม​ มหาวิทยาลัย​สุโขทัย​ธรรมาธิราช​ ผศ.ดร.ณัฐ​พล ฤกษ์​เกษม​สันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมี​ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณ​ทหาร​ลาดกระบัง​ ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีนายธีระพล ติรวศิน กลุ่มอุตสาหกรรม​การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีการถ่ายทอดผ่านทางเฟซบุ๊ก​เพจ EMIC กลุ่มอุตสาหกรรม​การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม

นายธีระพล ติรวศิน กลุ่มอุตสาหกรรม​การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

- Advertisment -
ผศ.ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ ผู้เชี่ยวชาญ​ด้าน​วิศวกรรม​สิ่ง​แวดล้อม​ มหาวิทยาลัย​สุโขทัย​ธรรมาธิราช

โดยในสาระสำคัญ ผศ.ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ ผู้เชี่ยวชาญ​ด้าน​วิศวกรรม​สิ่ง​แวดล้อม​ มหาวิทยาลัย​สุโขทัย​ธรรมาธิราช​ กล่าวว่า เหตุการณ์​อุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นของโรงงานหมิงตี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และคงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย จึงอยากเสนอแนะให้มีความจริงจังในการบังคับใช้กฏหมายและการซ้อมแผนปฏิบัติการรับมือกับอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้น ที่ไม่ใช่แค่เขียนไว้แค่ในตัวหนังสือ แต่ควรต้องสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงและทันต่อสถานการณ์​ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ชี้ให้เห็นชัดว่าภาครัฐนั้นสอบตกในการเข้าไปแก้ไขสถานการณ์​ โดยปล่อยให้เพลิงลุกไหม้อย่างรุนแรงต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ชม. กว่าที่จะระดมความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆเข้าไปได้ รวมทั้งปล่อยให้ผู้ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่และคนชุมชนที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับสารพิษคือสไตรีนโมโนเมอร์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

นอกจากนี้ในแนวทางป้องกันกับโรงงานอื่นๆ ที่เข้าข่ายจะเกิดอุบัติภัยร้ายแรงในลักษณะ​เดียวกันนี้ ในส่วนที่จะมีการขยายกำลังการผลิต ควรจะผลักดันให้ย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม​ ส่วนโรงงานเดิมก็ควรจะมีความเข้มงวดในการอนุญาต​ให้ชุมชุนเข้าไปตั้งอยู่ใกล้ๆ และควรจะมีพื้นที่สีเขียวเป็นบัฟเฟอร์กั้นไว้ระหว่างโรงงานกับชุมชน

ผศ.ดร.ณัฐ​พล ฤกษ์​เกษม​สันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมี​ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณ​ทหาร​ลาดกระบัง

ผศ.ดร.ณัฐ​พล ฤกษ์​เกษม​สันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมี​ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐควรจะมีการจัดการเพื่อรับมืออุบัติภัยที่มาจากสารเคมี ซึ่งมีความแตกต่างจากเหตุเพลิงไหม้โดยทั่วไป ให้มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และอุปกรณ์ให้มากกว่านี้เพื่อลดความสูญเสีย​ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน​ โดยควรจะมีวิธีประสานความร่วมมือกับบริษัทเอกชนที่มีความพร้อมเพื่อระดมความช่วยเหลือ​ให้ทันต่อสถานการณ์​

ทั้งนี้ในโรงงานที่มีการเก็บกักสารอันตรายที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมและอยู่ใกล้กับชุมชน ควรจะมีความเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยและอุปกรณ์​ป้องกันภัยที่เพียงพอ เพราะถ้าปล่อยปละละเลยเรื่องดังกล่าวจนเกิดอุบัติเหตุขึ้น จะสร้างความเสียหายรุนแรงบานปลายกระทบไปในวงกว้าง

รศ.ดร.เกษมสันต์​ มโนมัยพิบูลย์​ อาจารย์​ประจำบัณฑิตวิทยาลัย​ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี​พระ​จอมเกล้า​ธนบุรี

รศ.ดร.เกษมสันต์​ มโนมัยพิบูลย์​ อาจารย์​ประจำบัณฑิตวิทยาลัย​ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี​พระ​จอมเกล้า​ธนบุรี​ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้สารเคมีครั้งนี้ ในแง่ของมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ที่เป็นเขม่าควันสีดำ ในพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไปนั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะกลุ่มควันลอยขึ้นสูงใกล้ฐานเมฆและเจือจางไปมากในอากาศ แต่ในส่วนที่อยู่ในรัศมีใกล้โรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีการมอนิเตอร์ ตรวจวัดข้อมูลสารปนเปื้อนต่างๆที่อาจจะตกค้างและมีการจัดการให้ดี จนมั่นใจได้ว่าผู้ที่อพยพกลับเข้ามาอยู่ตามปกติ จะมีความปลอดภัย

Advertisment