โรงไฟฟ้าชุมชน ฉบับ “สุพัฒนพงษ์ ” เน้นเนเปียร์ ไม้โตเร็ว ยกเลิก Quick Win นำร่อง 100-150 MW

- Advertisment-

โรงไฟฟ้าชุมชน ฉบับ “สุพัฒนพงษ์” นำร่อง100-150 เมกะวัตต์ ยกเลิก Quick Win เน้นหญ้าเนเปียร์ ไม้โตเร็ว หวังให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการ เปิดทางบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เข้าร่วมโครงการ โดยเตรียมเสนอหลักเกณฑ์ใหม่ให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณา ปลายเดือน ต.ค.63 นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2563 ถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า ยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้โครงการเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอย่างแท้จริง โดยได้มอบหมายให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ไปหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ซึ่งเบื้องต้นจะไม่มีการแบ่งประเภทเป็นโครงการเร่งด่วนหรือ Quick Win และประเภททั่วไป แต่จะมีเฉพาะโครงการนำร่อง ประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยเน้นพืชพลังงาน (หญ้าเนเปียร์) หรือ ไม้โตเร็ว ที่ปลูกขึ้นใหม่ ไม่ใช่พื้นที่ที่มีการปลูกอยู่เดิม ทั้งนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีความพร้อมด้านการเงินก็สามารถที่จะเข้าร่วมโครงการได้

นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ทั้งประเภทเชื้อเพลิง และอัตรารับซื้อไฟฟ้า พื้นที่การดำเนินการ โดยต้องการให้โครงการโรงไฟฟ้านำร่องประสบความสำเร็จ ในแง่ที่เกษตรกรซึ่งปลูกพืชพลังงานได้รับประโยชน์ ไม่ใช่เอกชนผู้ลงทุนเป็นผู้ได้ เพราะการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูป Feed in Tariff หรือ FiT เป็นเงินของผู้ใช้ไฟฟ้า

- Advertisment -
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีพพ.

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่าได้นัดหมายที่จะหารือกับกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทย ในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนที่ปรับปรุงใหม่ จะแล้วเสร็จทันเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณา ปลายเดือน ต.ค.2563 นี้

โดยโรงไฟฟ้าชุมชนตามหลักเกณฑ์ใหม่ จะเน้นไปที่พืชพลังงานคือ หญ้าเนเปียร์ เนื่องจากให้ผลผลิตเร็วประมาณ 6 เดือน ก็สามารถตัดส่งโรงไฟฟ้าได้ จากนั้นรอบต่อไปจะใช้เวลาอีก 3 เดือน ส่วนไม้โตเร็วเช่น กระถินยักษ์ จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี

ส่วนโครงการที่มีการปลูกหญ้าเนเปียร์อยู่เดิม เช่นที่ ขอนแก่น อุบลราชธานี บุรีรัมย์ จะต้องรอดูหลักเกณฑ์ใหม่ เนื่องจากนโยบายต้องการโครงการนำร่องที่เป็นพืชพลังงานที่ต้องปลูกขึ้นใหม่ ในพื้นที่ใหม่

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สนพ.(คนซ้ายมือ)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จะดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ปรับปรุงใหม่ หรือ PDP2018 Rev1 ที่อยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนปริมาณการรับซื้อตลอดทั้งแผนที่ระบุไว้ 1,933 เมกะวัตต์นั้น ในการปรับแผนPDP ครั้งใหม่ที่คำนึงถึงผลกระทบโควิด-19 และปริมาณสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า จึงจะมีการปรับลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

Advertisment

- Advertisment -.