กฟผ.เตรียมเสนอแผนลงทุน16โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ใน9เขื่อนหลัก

2835
- Advertisment-

 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เตรียมทำแผนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำทั้งหมด จำนวน 16 โครงการ รวม 2,725 เมกะวัตต์ ใน 9 เขื่อนสำคัญ เสนอกระทรวงพลังงานพิจารณา โดยกฟผ. เริ่มนำร่องที่เขื่อนสิริธร จ.อุบลราชธานี 45 เมกะวัตต์ คาดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2563  วงเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท ในขณะที่แหล่งข่าวระบุ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ หรือ PDP2018 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)เมื่อวันที่24ม.ค.2562ที่ผ่านมาไม่ได้มีการระบุการแบ่งโควต้าการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ระหว่างกฟผ.กับเอกชน  แต่รัฐมนตรีพลังงานอาจกำหนดเป็นนโยบายภายหลังได้

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เตรียมจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำจำนวน 2,725  เมกะวัตต์ ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำให้ กระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเร็วๆนี้  โดยจะดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ทั้งหมด 9 เขื่อน จำนวน 16 โครงการ เป็นการผลิตไฟฟ้าชนิดเสถียร(Firm)ตามช่วงเวลา

โครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ที่เขื่อนสิรินธร

ในเบื้องต้นจะนำร่องผลิตไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเพื่อขออนุมัติจาก ครม.ให้ดำเนินการ จากนั้นจะเปิดประมูลหาผู้ดำเนินโครงการ โดยตามแผนจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท และจะเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าแบบHybrid แห่งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

- Advertisment -

สำหรับแผนของ กฟผ. จะสร้างโซลาร์ลอยน้ำใน 9 เขื่อน 16 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 2,725 เมกะวัตต์ ดังนี้
1.เขื่อนสิรินธร จำนวน 45 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ปี 2563
2.เขื่อนอุบลรัตน์​ จำนวน 24 เมกะวัตต์ COD ปี  ปี 2566
3.เขื่อนภูมิพล เฟส1 จำนวน 158 เมกะวัตต์ COD ปี 2569
4.เขื่อนศรีนครินทร์ เฟส1 จำนวน 140 เมกะวัตต์ CODปี 2569
5.เขื่อนวชิราลงกรณ เฟส1 จำนวน 50 เมกะวัตต์ CODปี 2570
6.เขื่อนศรีนครินทร์ เฟส2 จำนวน 280 เมกะวัตต์ COD ปี 2572
7.เขื่อนภูมิพล เฟส2  จำนวน 300 เมกะวัตต์ COD ปี 2573
8.เขื่อนจุฬาภรณ์ จำนวน 40  เมกะวัตต์ COD ปี 2576
9.เขื่อนบางลาง จำนวน 78 เมกะวัตต์ COD ปี 2576
10. เขื่อนวชิราลงกรณ เฟส2 จำนวน 250 เมกะวัตต์ COD ปี 2574
11.เขื่อนศรีนครินทร์ เฟส 3 จำนวน 300 เมกะวัตต์ COD ปี 2575
12.เขื่อนภูมิพล เฟส 2 จำนวน 320  เมกะวัตต์ COD ปี 2576
13.เขื่อนรัชชประภา เฟส1 จำนวน 140 เมกะวัตต์ COD ปี 2577
14.เขื่อนสิริกิติ์ เฟส1 จำนวน 325เมกะวัตต์ COD ปี 2578
15. เขื่อนรัชชประภา เฟส2 จำนวน 100 เมกะวัตต์ COD ปี 2579
และ 16.เขื่อนสิริกิติ์ เฟส2  จำนวน 175 เมกะวัตต์ COD ปี 2580 

อย่างไรก็ตามการสร้างโซลาร์เซลล์ลอยน้ำคู่กับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนจะช่วยลดปัญหาช่วงที่เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ของประเทศได้ โดยช่วงพีคกลางวันสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำรองรับความต้องการใช้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและในช่วงพีคกลางคืนสามารถใช้น้ำจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนกันไป อีกทั้งการสร้างโซลาร์ลอยน้ำไม่เบียดบังพื้นที่ของเกษตรกรแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center -ENC)รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าว ว่า การดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ จำนวน2,725เมกะวัตต์ ตามแผนPDP2018 นั้นจะมีการแบ่งโควต้าให้กฟผ.ดำเนินการ จำนวน2,000เมกะวัตต์  ส่วนอีก725 เมกะวัตต์ นั้นจะเปิดให้มีการประมูลเป็นการทั่วไป

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศไทยพ.ศ. 2561-2580(PDP2018) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)เมื่อวันที่24ม.ค.2562ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการระบุการแบ่งโควต้าการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ระหว่างกฟผ.กับเอกชน โดยระบุเพียงกรอบตัวเลขปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่จะจ่ายเข้าระบบ จำนวน 2,725 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580  อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอาจมีนโยบายจัดแบ่งโควต้าการผลิตโซลาร์ลอยน้ำในภายหลังได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรอความชัดเจนจากนโยบายต่อไป

Advertisment