แบ่งโควต้าผลิตไฟโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ กฟผ.ได้2,000 เอกชนได้725เมกะวัตต์

- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน เผยแบ่งโควต้าผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP2018) ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดำเนินการเอง2,000 เมกะวัตต์ และเปิดรับซื้อจากเอกชน 725 เมกะวัตต์ โดยต้องรอให้ กฟผ.เริ่มนำร่องก่อน 45 เมกะวัตต์ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ในขณะที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน(พพ.)เตรียมของบประจำปี 2563 ทำโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนขนาดเล็กคาดมีศักยภาพ 200 เมกะวัตต์  

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ  ที่บรรจุไว้ใน แผนPDP2018 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)แล้วเมื่อวันที่24ม.ค.2562ที่ผ่านมาว่า  กำลังการผลิตที่กำหนดไว้ทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์
จะ แบ่งเป็นการผลิตจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 725 เมกะวัตต์ จะเปิดให้รับซื้อเป็นการทั่วไป แต่ต้องรอดูผลการนำร่องโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ของกฟผ. ก่อน เนื่องจากต้องการให้ราคารับซื้อไฟฟ้า
ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับราคาขายส่งของกฟผ.

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กำชับให้กฟผ.สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลักทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์และทุ่นลอยน้ำ แม้ว่าในประเทศจะมีผู้ผลิตไม่กี่ราย เช่นกลุ่มเอสซีจี แต่ก็ไม่ปิดกั้นรายอื่นที่มีศักยภาพจะดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด

- Advertisment -

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ได้ เตรียมของบประมาณประจำปี 2563 เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนขนาดเล็กของ พพ. ที่มีกว่า 20 เขื่อนทั่วประเทศ เช่นเดียวกันโดย ก่อนหน้านี้ ทางพพ.ได้เคยมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการเอาไว้ และพบว่าจะมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200 เมกะวัตต์

Advertisment