กกพ.ชงขอขยายSCOD โรงไฟฟ้าเฉพาะที่มีเหตุสุดวิสัย

1260
cof
- Advertisment-

สำนักงาน กกพ.เผยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เมื่อวันที่ 16ธ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่พิจารณาวาระการขอเลื่อนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(SCOD) ที่มีกำลังผลิตรวม300เมกะวัตต์  แม้จะผ่านความเห็นชอบจาก กบง.มาแล้วก็ตาม  ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ขอเลื่อนSCODโดยที่ไม่มีเหตุสุดวิสัย อาจจะไม่ได้รับการพิจารณา

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ยังไม่ได้พิจารณา หลักเกณฑ์ สำหรับการขยายกรอบระยะเวลาการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(SCOD) ของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ไม่สามารถ SCOD ได้ตามกำหนด ในกรณีอยู่นอกเหนือจากเหตุสุดวิสัย แม้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ก่อนหน้านี้ได้ผ่านความเห็นชอบแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ผลจากการที่ กพช.ยังไม่พิจารณาวาระดังกล่าวทำให้ กกพ.จำเป็นต้องกลับไปพิจารณาการขยายระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ได้เฉพาะกรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัยเท่านั้น  เช่น ล่าช้าจากการทำความเข้าใจกับชุมชน การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ขณะที่โรงไฟฟ้าได้ก่อสร้างไปมากแล้ว เป็นต้น

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า  โครงการโรงไฟฟ้าที่ขอเลื่อน SCOD ทั้งหมดมี 14 ราย กำลังการผลิตรวมกว่า 300เมกะวัตต์  แบ่งเป็น โครงการ VSPP (ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ) ประเภทขยะอุตสาหกรรม 2 ราย รวมกำลังผลิตติดตั้ง 11 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2562 แต่ขอเลื่อน SCOD เป็น มี.ค.และธ.ค. 2563 ตามลำดับ ,โครงการ VSPP ประเภทขยะชุมชน 1 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 9.90 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD วันที่ 31 ธ.ค. 2564 ขอเลื่อนเป็น ธ.ค. 2565 และโครงการ SPP Hybrid Firm (ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบเชื้อเพลิงผสมผสานที่ต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแบบเสถียร) จำนวน 11 ราย รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 284 เมกะวัตต์ โดยกลุ่มนี้ต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ภายใน  13 ธ.ค.2562 แต่ขอเลื่อน PPA เป็นปี 2563 และเลื่อนกำหนด  SCOD จากปี2563-2564  เป็นปี 2564-2565 แต่บางรายขอเลื่อนแบบยังไม่ระบุเวลา

Advertisment