เวิร์คช็อปรวมแผนพลังงานประเทศ เน้นเป้าหมายระยะสั้น 3-5 ปี รับมือยุค New Normal และSmart & Green Energy

- Advertisment-

กระทรวงพลังงานจัดเวิร์คช็อป “คนพลังงานร่วมใจ สู่ทิศทางไทยในอนาคต” เตรียมจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศแบบบูรณาการรับมือยุค New Normal และยุค Smart & Green Energy โดยให้มีความยืดหยุ่น เน้นเป้าหมายในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว คือ เป้าหมาย 3 ปี 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี  ด้านเลขาธิการ สศช.เชื่อ ภายใน10 ปี รถยานยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนรถยนต์ใช้น้ำมัน

หลังจากที่ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พร้อมด้วยแผนที่เกี่ยวข้อง และให้นำแผนทั้งหมดที่เสนอไปรวมให้เป็นแผนเดียวกันอย่างมีเอกภาพและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในปี 2564 นั้น วันนี้ (14 ธ.ค.63) กระทรวงพลังงานมีการจัดเวิร์คช็อป “คนพลังงานร่วมใจ สู่ทิศทางไทยในอนาคต” โดยเชิญตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอาทิ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากบริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ประเทศไทย ร่วมแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และการคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทิศทางการพัฒนาและความท้าทายด้านพลังงานของโลกและของไทยในอนาคต

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือแผนพีดีพี ที่ผ่านมาซึ่งใช้การประมาณการเศรษฐกิจระยะยาวเป็นสมมติฐาน ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนอันมาจากผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนให้สอดคล้องกับสถานะความเป็นจริง และให้มีความยืดหยุ่น มีเป้าหมายในระยะสั้น 3 ปี ระยะปานกลาง 5-10 ปี มากกว่าการวางแผนในระยะยาว 20 ปี

- Advertisment -

นอกจากนี้ ปัจจุบันแผนพลังงานของไทยยังต้องมีการวางแผนเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงยุค Digital Disruption ทั้งในด้านสภาวะโลกร้อนและพลังงานสะอาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

“การจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศแบบบูรณาการครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการจัดทำแผนแบบบูรณาการครบวงจรทั้งด้านก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า น้ำมัน พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน ในลักษณะ Bottom Up เสนอจากผู้ปฏิบัติงานขึ้นมาสู่ระดับนโยบาย ซึ่งจะได้นำผลจากการระดมความเห็นครั้งนี้มาร่วมกันกำหนดนโยบายและจัดทำแผนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว

นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า กระทรวงพลังงานจะมีการจัดสัมนาเพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอีกครั้งในเดือน มี.ค. 2564 และจะเห็นภาพแผนชัดเจนในเดือน เม.ย. 2564 ก่อนนำเสนอ ครม.เห็นชอบเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติต่อไป

โดยแผนพลังงานที่จะบูรณาการเป็นแผนฉบับเดียวกันนั้น จะมีการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์หรือ Net-Zero Carbon Emissions และต้องสอดรับกับนโยบายของอาเซียนที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% ในปี 2573 รวมทั้งสอดคล้องกับ ทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจภาคพลังงาน ซึ่งธุรกิจต่างๆ ทั้ง โรงกลั่น เชื้อเพลิงชีวภาพ ก๊าซธรรมชาติ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.

ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า  เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวและกลับมาเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ 6 เดือนแรกของปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะวัคซีนยังคงไม่มาถึงประเทศไทย ในส่วนของภาคพลังงานนั้น ภาครัฐจะต้องมีเป้าหมายด้านพลังงานอย่างชัดเจน เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้า EV จะเกิดขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนรถยนต์สันดาปภายในได้ แต่คาดว่าภายใน 10 ปีจะก้าวไปสู่ EV ทั้งหมด และแบตเตอรี่ (ESS) ที่ราคาเริ่มลดลงจนถึงจุดที่คนเข้าถึงได้ ดังนั้นต้องการให้กระทรวงพลังงานมีความชัดเจนว่าโรงกลั่นจะเหลือน้ำมันชนิดใดบ้าง สายส่งไฟฟ้าจะต้องปรับไปสู่สมาร์ทกริดอย่างไร ซึ่ง 3 การไฟฟ้าไม่ควรจะลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันและไม่ควรลงทุนในรูปแบบเดิม

นอกจากนี้เห็นว่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) จะใช้น้อยลงจนไม่มีการใช้  และก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จะมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งควรพิจารณาก๊าซในอ่าวไทยที่มีน้อยลงว่าควรเก็บไว้ใช้ทำปิโตรเคมีและนำLNG ที่มีราคาต่ำกว่ามาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟแทน ปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป

Advertisment