เงินกองทุนน้ำมันฯ วิกฤติติดลบสูงสุดในปี 2567 แตะ 9 หมื่นล้านบาท พลังงานจ่อหารือแก้สภาพคล่องในเดือน มี.ค. 2567 นี้

- Advertisment-

กองทุนน้ำมันฯ ส่อวิกฤติหนัก เงินติดลบแตะระดับ 9 หมื่นล้านบาท สูงสุดในปี 2567 กระทรวงพลังงานเร่งหารือแก้ปัญหาสภาพคล่องภายในเดือน มี.ค. 2567 ก่อนสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร ในวันที่ 31 มี.ค. 2567 ขณะที่หนี้เงินต้นก้อนแรกจะต้องเริ่มจ่าย 3 หมื่นล้านบาทในเดือน พ.ย. 2567 กระทรวงพลังงานจ่อหารือแก้ปัญหาสภาพคล่อง ชี้อาจขยับเพดานราคาดีเซลขึ้นเป็น 32-33 บาทต่อลิตร และขอให้กระทรวงการคลังกลับมาลดภาษีดีเซลระดับ 5 บาทต่อลิตรอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานความคืบหน้าสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานถึงฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 25 ก.พ. 2567 ว่า ติดลบสูงสุดในรอบปี 2567 โดยทะลุถึง -91,887 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบถึง -45,222 ล้านบาท จากการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบถึง -46,665 ล้านบาท จากการชดเชยราคา LPG ให้จำหน่ายในราคาไม่เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม

ทั้งนี้ฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่ติดลบแตะระดับ 9 หมื่นล้านบาทดังกล่าว นับเป็นยอดเงินติดลบที่สูงสุดในปี 2567 และคาดว่าในเดือน มี.ค. 2567 นี้ อาจติดลบแตะระดับ 1 แสนล้านบาทอีกครั้ง หลังจากกองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาท เมื่อปี 2565  

- Advertisment -

ปัจจุบันระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวระดับสูง โดยเฉพาะราคาดีเซลที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักจ่ายในการอุดหนุนเฉลี่ยถึง  4.35 บาทต่อลิตร เพื่อตรึงราคาขายปลีกให้อยู่ที่ระดับ 29.94 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตามภายในเดือน มี.ค. 2567 นี้ ทางกระทรวงพลังงานจะเร่งสรุปแนวทางการบริหารจัดการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ  ขณะที่มาตรการตรึงราคาดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรของกระทรวงพลังงานนั้น จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค. 2567 นี้ ดังนั้นกระทรวงพลังงานจำเป็นจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังถึงแนวทางการปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มเติม โดยให้ลดมากกว่า 1 บาทต่อลิตร และอาจต้องรวมถึงการขยับเพดานราคาดีเซลเพิ่มขึ้นควบคู่กันไปด้วย เช่น ขยับเพดานราคาขึ้นเป็น 32-33 บาทต่อลิตร แต่ก็ขึ้นอยู่กับการลดภาษีฯ ของกระทรวงการคลังและราคาตลาดโลกเป็นสำคัญด้วย

สำหรับมาตรการลดภาษีดีเซลนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ได้กำหนดลดอัตราภาษีดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 20 ม.ค. – 19 เม.ย. 2567  ซึ่งขณะนี้การบริหารสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ โดย สกนช. ยังมีเงินทยอยเบิกจ่ายเหลืออยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาทที่พอจะดูแลราคาดีเซลไปได้อีกระยะหนึ่งหากราคาดีเซลยังคงทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานจะต้องกำหนดแนวทางให้ชัดเจนในเดือน พ.ค. 2567 นี้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญคือสภาพคล่องกองทุนฯเริ่มวิกฤติและที่สำคัญในเดือน พ.ย. 2567 จะต้องใช้หนี้เงินต้นที่กู้จากสถาบันการเงินล็อตแรกประมาณ 30,000 ล้านบาท จากที่ได้ทยอยลงนามในสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาทตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนั้นทางเลือกเบื้องต้นที่จะต้องดำเนินการ คือ

1.หากระดับราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกอยู่ในระดับ 100-105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทางกระทรวงพลังงานจำเป็นจะต้องขอให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดภาษีฯดีเซลจาก 1 บาทต่อลิตรเป็น 2 บาทต่อลิตรและอาจต้องขยับเพดานราคาดีเซลเพิ่มเป็น 32-33 บาทต่อลิตร เพื่อให้สามารถมีเงินบริหารสภาพคล่องได้มากขึ้นหากเกิดกรณีราคาตลาดโลกผันผวนอย่างหนัก

2.ปรับลดภาษีฯ ดีเซลเป็น 5 บาทต่อลิตรและขยับเพดานราคาดีเซลเป็น 32 บาทต่อลิตร เพื่อให้กองทุนฯ สามารถบริหารการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อสะสมไว้ชำระหนี้เงินต้นในเดือน พ.ย. 2567 นี้ให้ทันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินที่กู้ยืมมา อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือราคาน้ำมันตลาดโลกที่ต้องติดตามใกล้ชิดหากลดลงต่ำก็จะทำให้การบริหารสภาพคล่องดีขึ้น แต่หากราคาสูงจะยิ่งกดดันต่อสภาพกองทุนฯ ให้วิกฤติยิ่งขึ้น

Advertisment

- Advertisment -.